เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเฉลิมฉลองงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2567 โดยมี Ms. Rika Yorozu, Programme Specialist ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก ส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพมหานคร นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) นายเอกราช ชวีวัฒน์ รองอธิบดี สกร. นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล รองอธิบดี สกร. ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหาร บุคลากร สกร.เข้าร่วมกิจกรรม ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ) เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวถึงการเฉลิมฉลองงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2567 ว่า นานาประเทศทั่วโลกได้ตระหนักชัดถึงความพยายามของ “ยูเนสโก” ในการผลักดันให้การรู้หนังสือของประชาชนทั่วโลกเป็นวาระแห่งโลก (World Agenda) เพื่อขจัดปัญหาการไม่รู้หนังสือของประชากรโลกให้หมดสิ้นไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของประชากร โดยมีจุดเน้นที่มุ่งหวังให้เกิดขึ้นกับประชากรและสังคมโลกทุกระดับซึ่ง แปรเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมในแต่ละปี และสำหรับในปี พ.ศ. 2567 นี้ “ยูเนสโก” ได้กำหนดแนวคิดหลักในการดำเนินการส่งเสริมการรู้หนังสือของประชากรโลก คือ “การส่งเสริมการศึกษาแบบพหุภาษา: การรู้หนังสือเพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเพื่อสันติภาพ ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ประกอบด้วยสังคมที่เรียกว่า สังคมพหุวัฒนธรรม” มีประชากรหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้สมาชิกในสังคมไทยมีวัฒนธรรม ประเพณี ภาษา บรรทัดฐาน และความเชื่อแตกต่างกันอย่างหลากหลาย รัฐบาลทุกรัฐบาลได้พยายามสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพความหลากหลายดังกล่าวเพื่อให้สมาชิกในสังคมยอมรับถึงความหลากหลาย ความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ในวัฒนธรรมของกันและกันเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขผ่านกลไก “การศึกษา”
ดร.สุเทพ ประธานในพิธีเปิดงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2567 กล่าวว่า การจัดพิธีเฉลิมฉลองงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2567 โดยปีนี้“ยูเนสโก” ได้กำหนดแนวคิดหลักในการดำเนินการส่งเสริมการรู้หนังสือของประชากรโลก คือ “การส่งเสริมการศึกษาแบบพหุภาษา: การรู้หนังสือเพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเพื่อสันติภาพ ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีขับเคลื่อนการส่งเสริมการศึกษาแบบพหุภาษา โดยดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้ 1) การส่งเสริมการใช้ภาษาถิ่นหรือการใช้ภาษาแม่ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ควบคู่กับภาษาไทย และภาษาต่างประเทศในสถานศึกษาในระดับประถมศึกษา 2) การจัดทำหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนที่คำนึงถึงความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมของผู้เรียน 3) การพัฒนาศักยภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีทักษะในการสอนพหุภาษาและการจัดการเรียนการสอนหรือกิจกรรม การเรียนรู้ที่เคารพและเข้าใจในความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม และ 4) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรชุมชนในรูปแบบหรือประเภทต่าง ๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการการศึกษาแบบพหุภาษา เช่น กรณีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี นราธิวาส และยะลา โดยภาพรวมของประชาชนร้อยละ 80 เป็นชาวมุสลิม ใช้ภาษามลายูถิ่นในชีวิตประจำวัน ได้จัดการศึกษาตามแนวทางดังกล่าวของ ศธ.อย่างชัดเจน รวมทั้งจังหวัดในภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศที่มีความหลากหลาย ทางภาษาและวัฒนธรรม โดย สกร.ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนร่วมกับภาคเอกชนในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งประสบความสำเร็จในหลายมิติ
นายธนากร กล่าวว่า การจัดงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2567 นี้ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ได้กำหนดให้มีการจัดงาน ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิด “การส่งเสริมการศึกษา แบบพหุภาษา: การรู้หนังสือเพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเพื่อสันติภาพ” โดยผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพมหานครและคณะ ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารและบุคลากรของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งพิธีเฉลิมฉลองงาน“วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ในครั้งนี้ ได้จัดให้มีพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการความร่วมมือ ฯ ประจำปี 2567 จำนวน 13 รางวัล พิธีมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณระดับประเทศ ของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ประจำปี 2567 ให้แก่ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก จำนวน 101 รางวัล พร้อมทั้งมีการบรรยายพิเศษเนื่องในโอกาส “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ”ประจำปี 2567โดย ดร.มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์ ประธานศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤตสถาบันวิจัยภาษา และวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ในส่วนของหน่วยงานสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ทั่วประเทศ ได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2567 ในโอกาสนี้อีกด้วย
ทั้งนี้ วันที่ 8 กันยายน ของทุกปี องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ “องค์การยูเนสโก” ประกาศให้เป็น “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ปี 2567 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) กำหนดให้มีการจัดงานดังกล่าวขึ้นภายใต้แนวคิด “การส่งเสริมการศึกษาแบบพหุภาษา : การรู้หนังสือเพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเพื่อสันติภาพ” เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้ประโยชน์จากศักยภาพของการรู้หนังสือ ที่พลิกโฉมไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นจึงต้องมีการส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกัน การเชื่อมประสานกันในสังคม และก่อให้เกิดสันติภาพ ยิ่งในโลกปัจจุบัน “พหุภาษา” เป็นเรื่องที่คนจำนวนมากเรียนรู้กันจนเป็นเรื่องธรรมดา การสร้างผู้คนให้แข็งแกร่งด้วยการนำภาษาแม่ หรือภาษาที่หนึ่งมาใช้เป็นฐาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการรู้หนังสือและการศึกษา โดยเฉพาะที่เกิดผลต่อสติปัญญา การสอน และเศรษฐกิจสังคมอย่างมีประสิทธิผล จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งขับเคลื่อน นอกจากวิธีการดังกล่าวจะสามารถช่วยส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกันแล้ว ยังรวมไปถึงการเคารพ ให้เกียรติกัน การก่อให้เกิดอัตลักษณ์ของชุมชน และประวัติศาสตร์ที่เข้มแข็งโดยรวม ซึ่งปีนี้ได้มีการคลี่ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรู้หนังสือในบริบทของพหุภาษา เพื่อผลักดันให้เกิดผลบรรลุสันติภาพอย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการค้นหาวิธีการแก้ปัญหาที่จะช่วยต่อยอดนโยบายและระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนการบริหารจัดการ การจัดทำโครงการต่าง ๆ และการนำไปปฏิบัติเพื่อให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม