เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังเพื่อช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานการเฝ้าระวังเพื่อช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย โดยข้อมูล ณ วันที่ 4 กันยายน 2567 พบว่า ตั้งแต่วันที่ วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ถึงปัจจุบัน มีสถานศึกษาใน 19 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แพร่ น่าน พะเยา ลำพูน เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ตาก ตราด ปราจีนบุรี กาญจนบุรี จันทบุรี สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร สุรินทร์ อ่างทอง และ ภูเก็ต ได้รับผลกระทบ จำนวน 265 โรงเรียน 35 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาประสบอุทกภัย รวมทั้งสิ้น 5,819 คน แบ่งเป็น นักเรียน จำนวน 4,955 คน ซึ่งได้รับการเยียวยาเร่งด่วนแล้ว จำนวน 4,879 คน ครูและบุคลากรฯ จำนวน 864 คน ได้รับการเยียวยาเร่งด่วนแล้ว จำนวน 864 คน
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า แม้ในหลายพื้นที่สถานการณ์ได้ดีขึ้นแล้ว แต่ยังมีโรงเรียนที่ สพฐ. ยังเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด คือ โรงเรียนบ้านห้วยมอญ โรงเรียนบ้านร่มเกล้า และโรงเรียนแม่ขะนิง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต 1 ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยคล้ายกัน คือ มีน้ำกัดเซาะอาคาร ประสบปัญหาดินสไลด์และดันอาคาร ทำให้เกิดรอยร้าว ถ้าฝนตกหนักต่อเนื่องอีก 2-3 ครั้ง ดินอาจจะสไลด์ลงมาที่โรงเรียนได้ จึงได้กำชับให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้แจ้ง 44 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และ กทม. ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง คลื่นลมแรง รวมถึงน้ำล้นอ่างเก็บน้ำและน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ ตนจึงขอเน้นย้ำ ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เตรียมพร้อมปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันอุทกภัย รวมถึงแผนป้องกันและแผนเผชิญเหตุที่ได้เตรียมไว้ โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักเรียน ครู และบุคลากร เป็นลำดับแรก
“สพฐ. และ กระทรวงศึกษาธิการมีความเป็นห่วงใยนักเรียน ครูและบุคลากรทุกคนที่ประสบอุทกภัย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ภาคเหนือเพื่อติดตามสถานการณ์และส่งกำลังใจ โดยมอบถุงยังชีพให้ครู นักเรียน และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งตนได้สั่งการให้ทุกโรงเรียนเร่งสำรวจความเสียหาย และเสนอของบประมาณช่วยเหลือวัสดุอุปกรณ์นักเรียนที่ใช้ในการเรียนการสอน เพื่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะได้ดำเนินจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน เพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนตามปกติได้โดยเร็ว ส่วนโรงเรียนที่อาคารชำรุดก็จะเร่งสนับสนุนงบประมาณกลางเพื่อซ่อมแซม” ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าว.