เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 – สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. เผยผลตอบรับจากสถานศึกษาที่เข้ารับการประกันคุณภาพภายนอกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดีเกินเป้า ช่วยลดภาระสถานศึกษา ลดการใช้เอกสาร ลดพิธีการต้อนรับได้จริง พร้อมปลื้มสถานศึกษาสะท้อนบทบาทถึงผู้ประเมินภายนอกที่มีความเป็นกัลยาณมิตร ไม่ตัดสิน ไม่จับผิด และให้คำแนะนำที่สอดคล้องตามบริบท ปฏิบัติได้จริง อีกทั้งยังเชิญชวนสถานศึกษาเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาเพื่อคำแนะนำที่ถูกต้องและนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น พร้อมกับโชว์ตัวอย่างจากโรงเรียนที่เข้ารับการประเมินในรอบล่าสุด คือโรงเรียนปลาปากวิทยา จังหวัดนครพนม ที่ได้นำข้อแนะนำจากการประเมินไปปรับใช้ทันที และพบว่าหลายทักษะและตัวชี้วัดด้านการเรียนการสอนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น สร้างจุดเด่นให้กับสถานศึกษาได้หลากหลายประเด็น

ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวว่า การประกันคุณภาพภายนอกรอบนี้ สมศ. ได้นำปัญหาและเสียงสะท้อนจากการประเมินในรอบที่ผ่านมา มาปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องการมุ่งลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดการใช้เอกสาร และงดพิธีการต้อนรับต่างๆ ต่อเนื่องถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการประเมินที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ และมุ่งเน้นประเมินเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพ (Quality Improvement) ไม่มีการตัดสินผลว่าผ่านหรือไม่ผ่าน ทั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันที่การประเมินคุณภาพภายนอกใกล้เสร็จสิ้น ถือว่ามีผลตอบรับอยู่ในระดับที่น่าพอใจมาก ทั้งในเรื่องการตกแต่งสถานที่ต้อนรับ การจัดพิธีการต่าง ๆ ก็ลดลงไปมากกว่า 60% ส่วนเสียงสะท้อนที่ดีที่สุดคือ เรื่องความเป็นกัลยาณมิตรและการให้คำแนะนำในเชิงบวกของผู้ประเมินภายนอก ซึ่งสถานศึกษาส่วนใหญ่ให้ความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าผู้ประเมินภายนอกมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีการศึกษาบริบทของสถานศึกษามาเป็นอย่างดี  ทำให้ผู้ประเมินภายนอกสามารถให้คำแนะนำกับสถานศึกษาได้อย่างสอดคล้องกับบริบท ตรงจุด เข้าใจง่าย สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และในบางข้อเสนอแนะ สถานศึกษาสามารถดำเนินการได้ในทันที  ซึ่งส่วนนี้เป็นปัจจัยสำคัญมากที่จะช่วยผลักดันให้สถานศึกษาขอรับการประกันคุณภาพภายนอกในจำนวนที่มากขึ้น

“สมศ. ขอเน้นย้ำกับสถานศึกษาอีกครั้งว่า การประเมินในครั้งนี้เป็นการประเมินเพื่อพัฒนา ไม่ตัดสินผลว่าผ่านหรือไม่ผ่าน แต่เป็นการมาช่วยดูว่าจุดเด่นของสถานศึกษาคืออะไร เพื่อพัฒนาต่อยอดอย่างไรให้ดียิ่งขึ้น และมีจุดที่ต้องปรับปรุงอะไรบ้าง ฉะนั้นไม่ต้องกลัวหรือกังวลที่จะสะท้อนความจริงเพื่อให้ผู้ประเมินภายนอกได้รับทราบปัญหาที่แท้จริง สำหรับการวางแผนร่วมกันแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสถานศึกษาและผู้เรียน โดยตรง” ดร.นันทา กล่าว

ด้าน นายเกรียงไกร นามทองใบ รองผู้อำนวยการโรงเรียนปลาปากวิทยา จังหวัดนครพนม กล่าวว่า โรงเรียนปลาปากวิทยาเข้ารับการประกันคุณภาพภายนอกมาแล้ว 4 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 ซึ่งพบว่าแตกต่างจาก 4 ครั้งที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด โดยรอบที่ผ่านมาจะเน้นไปที่การชี้ข้อบกพร่องต่างๆ ทำให้รู้สึกคล้ายถูกจับผิดแต่สำหรับครั้งนี้จะมีลักษณะเป็นกัลยาณมิตรมากขึ้น ผู้ประเมินให้ความเป็นกันเองและให้คำแนะนำในเชิงบวก เช่น สิ่งนี้สถานศึกษาทำดีอยู่แล้ว แต่ยังสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้อีก ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ไม่กดดัน ส่วนเรื่องการเตรียมตัวเพื่อเข้ารับการประกันคุณภาพภายนอก ทางโรงเรียนไม่ได้ต้องเตรียมการอะไร เนื่องจากโรงเรียนมีการทำงานที่เป็นระบบอยู่แล้ว อีกทั้งตัวชี้วัดจากการประกันคุณภาพภายนอกก็ไม่ต่างจากการประเมินรางวัลโรงเรียนคุณภาพ (OBEC QA) ที่โรงเรียนพึ่งมีการประเมินไปก่อนหน้า การประกันคุณภาพภายนอกจึงเพียงแค่นำงานที่มีอยู่มาจัดทำข้อมูลให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดเท่านั้น

นายเกรียงไกร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การประกันคุณภาพภายนอกในครั้งนี้ ผู้ประเมินภายนอกให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า โรงเรียนมีจุดเด่นเรื่องหลักสูตรท้องถิ่นที่เกี่ยวกับการทำผ้าลายคราม ซึ่งมีการทอผ้าและออกแบบบรรจุภัณฑ์แล้ว และยังสามารถนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกตามนโยบาย Learn to Earn นอกจากนี้ก็มีเรื่องการพัฒนาห้องเรียนพิเศษ เช่น ยกระดับกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ (English Integrated Study) ให้เป็นคลาสที่สูงกว่า อย่างจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ เน้นการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (Mini English Program) หรือเพิ่มห้องเรียนพิเศษเฉพาะหลักสูตรอื่นๆ เช่น ห้องวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์นั้น ทางโรงเรียนได้ส่งโครงงานวิทยาศาสตร์เข้าแข่งขันและได้รับรางวัลทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งทางผู้ประเมินภายนอกเล็งเห็นว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของโรงเรียนที่สามารถพัฒนาให้เป็น Best Practice ได้ จึงให้คำแนะนำว่า ควรมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงงาน วิธีการดำเนินการ และขั้นตอนการปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนสำเร็จเป็นโครงงานนั้นๆ และจัดทำในรูปแบบข้อมูลสารสนเทศที่สะดวกในการเผยแพร่และเข้าถึง เพื่อเป็นตัวอย่างให้โรงเรียนอื่นๆ เข้ามาศึกษาและสามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับโรงเรียนของตนเอง

“การประกันคุณภาพภายนอกโดย สมศ. จะแตกต่างจากการประกันคุณภาพภายในตรงที่ การประกันคุณภาพภายในเราเห็นแค่มุมมองของตัวเองเฉพาะบางเรื่อง แต่การประกันคุณภาพภายนอกของ สมศ. จะมองแบบภาพรวม เปรียบเหมือนกระจกที่ช่วยสะท้อนให้เห็นตัวเองในมุมมองที่ต่างออกไป ทำให้เราเห็นข้อดี ข้อด้อยของตัวเองชัดเจนขึ้น อีกทั้งยังมองตามบริบทของสถานศึกษาจริงๆ มองในสิ่งที่เราถนัด ประเมินตามสิ่งที่เราถนัด พร้อมให้คำแนะนำเพิ่มเติมช่วยให้เราเห็นทั้งจุดเด่นที่ควรส่งเสริมให้เป็น Best Practice จุดที่ต้องเติมเต็ม และจุดอ่อนที่ควรปรับปรุงแก้ไข ทำให้โรงเรียนสามารถเข้าใจบริบทของตัวเองและมีแนวทางที่ชัดเจนในการต่อยอดพัฒนาสถานศึกษาและพัฒนาผู้เรียนต่อไป” นายเกรียงไกร กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments