เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตนมีความห่วงใยในสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เป็นอย่างมาก จึงได้เน้นย้ำให้สถานศึกษาในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยติดตามข่าวสารและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมในการอพยพได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้หากจำเป็นต้องประกาศปิดโรงเรียนเพื่อความปลอดภัยของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ก็ขอให้ผู้อำนวยการโรงเรียนดำเนินการทันที ในส่วนของพื้นที่ใดหากมีรายงานว่าน้ำกำลังมาก็ขอให้เตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์น้ำหลากให้เหมาะสม แต่ทั้งนี้ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก
“พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และผมมีความห่วงใยสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงขอกำชับให้สถานศึกษาทุกสังกัดรวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมแรงร่วมใจกันช่วยเหลือนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ โดยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยในระยะเร่งด่วนให้ดูแลเรื่องอาหาร ที่พัก รวมถึงการจัดส่งเรือเพื่อมอบถุงยังชีพ ตามสถานศึกษา บ้านพักครู หรือบ้านเรือนของนักเรียน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ส่วนในระยะยาว หากพื้นที่ไหนที่ปลอดภัยแล้วให้สำรวจความเสียหายของอาคารสถานที่ ครุภัณฑ์ของโรงเรียนในสังกัด จากนั้นให้แจ้งผ่านไลน์กลุ่ม “ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย” สพฐ. เพื่อพิจารณาในการให้การช่วยเหลือต่อไป” รมช.สุรศักดิ์ กล่าว
นายสุรศักด์ กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นได้รับข้อมูลสถานการณ์สถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัยจากศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังเพื่อช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย ของ สพฐ. ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา พบว่า มี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 31 เขต โดยเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 22 เขต และ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 9 เขต มีโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบ 238 โรงเรียน มีนักเรียนที่ได้รับผลกระทบ 4,857 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับผลกระทบ 759 คน รวม นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจำนวน 5,616 คน ซึ่งเบื้องต้น สพฐ. ได้ช่วยเหลือเยียวยาในเบื้องต้นด้วยการมอบถุงยังชีพไปแล้ว