วันที่ 28 สิงหาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานการประชุมสัมมนาวิชาการ “ขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติ เพื่อสร้างคนไทย 4.0” จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมี นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา เข้าร่วม ณ ห้องอัมรินทร์ ฮอลล์ ชั้น 3 โรงแรมเอส ดี อเวนิว เขตบางพลัด กรุงเทพฯ กว่า 250 คน  ว่า  นโยบายของศธ. แบ่งเป็น 2 ข้อหลัก คือ การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต โดยแบ่งเป็น 2 เรื่องหลัก คือนโยบายที่เน้นหนักในการทำงาน และนโยบายที่ต้องเร่งดำเนินการ เมื่อกล่าวถึงนโยบายที่ต้องเร่งดำเนินการและดำเนินการไปแล้ว มีความสอดคล้องกับการขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติ ดังนี้ 1.การเป็นผู้เรียนรู้ มีทักษะการเรียนรู้ มีสมรรถนะ จะสอดคล้องกับการดำเนินนโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ, การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA เป็นต้น 2.การส่งเสริมความเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม เป็นผู้มีทักษะทางปัญญา ทักษะศตวรรษ ที่21 สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาระบบการศึกษา “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา“ และ 3.พลเมืองที่เข้มแข็ง เป็นผู้มีความรักชาติ รักท้องถิ่น รู้ถูกผิด มีจิตสำนึกเป็นพลเมืองไทยและพลโลก มีจิตอาสา มีอุดมการณ์และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชาติ โดยที่ผ่านมา ศธ.ได้ลงนาม MOU การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย ระหว่าง 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย (มท.)  กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ตนอยากมีเครือข่ายมาร่วมพัฒนาการศึกษา เพื่อร่วมกันพัฒนาให้เด็กฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ คือ รู้ในสิ่งที่ควรจะรู้ เมื่อรู้แล้วรู้จักคิดให้ได้ และหลังจากรู้และคิดได้ ควรทำในสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ และการศึกษาก็จะดีขึ้น ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา( สกศ.)จะต้องเป็นหลักในการดำเนินงาน เพื่อให้การศึกษาของประเทศไทยมีมาตรฐานเดียวกัน

ขณะที่ นายสิริพงศ์ ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “กระทรวงศึกษาธิการกับการพัฒนากำลังคนตามมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่คนไทย 4.0” ว่า  สกศ.ถือเป็นหน่วยงานที่เป็นมันสมองของ ศธ. มีความสำคัญในการกำหนดทิศทางการศึกษาของไทย ว่าควรจะไปทิศทางไหน และต้องพยายามสังเคราะห์ทฤษฎีต่างๆ ออกมาเป็นภาคปฏิบัติให้ได้ โดยอย่าทำแต่วิจัยและนำขึ้นหิ้งแบบหน่วยงานอื่น วันนี้ต้องคิดว่าทำอย่างไรงานวิจัย ไม่ใช่แค่วิชาการ แต่นำสู่การปฏิบัติได้จริงๆ และที่สำคัญ ศธ.ต้องไม่ลืมหน้าที่ของตน ว่า มีหน้าที่อะไร อย่าลืมว่า ศธ.มีหน้าที่สร้างคน  ผลิตพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ วันนี้นโยบายรัฐบาลมีจำนวนมาก เราอย่าไปหลงทาง หน้าที่เราคือสร้างคนให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง 1 ปีที่ผ่านมา ศธ. มีความก้าวหน้าในการพัฒนาการศึกษาอย่างมาก วันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้นโยบายขับเคลื่อนเรื่องธนาคารหน่วยกิต เชื่อว่าถ้าทำได้เป็นรูปธรรมประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในเรื่องการจัดการเรียนการสอนอย่างมาก นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราเป็นผู้นำอาเซียนแท้จริง

ทั้งนี้งานสัมมนาในช่วงเช้ามีการเสวนาวิชาการ เรื่อง “DOE Thailand How to สู่การปฏิบัติ” และการเสวนาวิชาการ เรื่อง “การประเมินผลการขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติ เพื่อสร้างคนไทย 4.0” จากนั้น ในช่วงบ่ายมีนิทรรศการวิชาการของหน่วยงานด้านการศึกษา 9 สังกัด ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กรมส่งเสริมการปกตครองท้องถิ่น (สถ.) สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (สนศ.กทม.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมทั้งมีการเสวนาวิชาการ เรื่อง “การพัฒนาผู้เรียนให้มีความฉลาดรู้ เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย 4.0” โดยผู้แทนจากหน่วยงานด้านการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันเป็นกำลังสำคัญที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพ เป็น “คนไทย 4.0” ที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาตนเอง สังคม ประเทศชาติ และเป็นพลเมืองโลกที่สมบูรณ์ในอนาคต

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments