เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 ที่ โรงแรมเอส ดี อเวนิว กรุงเทพฯ สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการสัมมนาทางวิชาการ “การขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติ เพื่อสร้างคนไทย 4.0” โดย ดร.ประวีณา อัสโย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สกศ. กล่าวรายงานว่า มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ.2561 กำหนดกรอบผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา (DOE) หรือ คุณลักษณะคนไทย 4.0 ที่ตอบสนองวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยคนไทย 4.0 จะต้องธำรงความเป็นไทยและแข่งขันได้ในเวทีโลก คือ เป็นคนดีมีคุณธรรม ยึดค่านิยมร่วมของสังคมเป็นฐานในการพัฒนาตนให้เป็นคนที่มีคุณลักษณะ 3 ด้าน เป็นผู้เรียนรู้ เป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม เป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง โดยในการจัดการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษายึดหลักการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับสภาพบริบทของผู้เรียน พื้นที่ ชุมชนและสังคม รวมทั้งให้อิสระกับสถานศึกษาในการกำหนดอัตลักษณ์และทิศทางการจัดการศึกษาในการตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ชุมชน และท้องถิ่น ไม่มีการตัดเสื้อโหลหรือบังคับปลาให้ปีนต้นไม่อีกต่อไป นอกจากนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ใช้การวิจัยเป็นฐานการดำเนินการและใช้ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษารวม 16 หน่วยงาน ซึ่งในการสัมมนาครั้งนี้ได้มีการนำเสนอผลงานที่ปรากฏที่ผู้เรียนตาม DOE อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดการขยายผลในวงกว้างต่อไป
ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดการสัมมนาและ Exclusive Talk เรื่อง ชี้ทิศ คิดร่วมกัน สร้างสรรค์คนไทย 4.0 : DOE Thailand ว่า มาตรฐานการศึกษาของชาติเป็นเรื่องสำคัญที่จะบอกมาตรฐานคนไทยในแต่ละช่วงชั้น การจัดการศึกษาก็เหมือนการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่จะต้องสร้างมาตรฐานคนไทย โดยการสอบอย่างเดียวไม่สามารถตอบโจทย์การวัดมาตรฐาน ขณะที่การเรียนการสอนก็เป็นการตอบโจทย์ในรายวิชา แต่มาตรฐานที่เกิดจากการจัดการศึกษาตามหลักสูตรจะบอกถึงมาตรฐานที่ชัดเจนว่า คนไทยจะต้องมีทักษะด้านดิจิทัล ทักษะการด้านการอ่าน ทักษะด้านการคิด และการนำไปใช้ ซึ่งทักษะเหล่านี้เกิดขึ้นจากการจัดการศึกษา เพราะฉะนั้นการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม คือ จะต้องมี National Test (NT) ไปทดสอบว่า การจัดการศึกษาไม่ว่าจะเป็นรายวิชา กิจกรรมในชั้นเรียน การเรียนนอกชั้นเรียน การบูรณาการสิ่งต่าง ๆ เข้ากับตัวผู้เรียนที่เหมาะสมกับช่วงวัยนั้น เข้ากับมาตรฐานช่วงชั้นนั้นอย่างไร โดย NT จะเป็นแบบทดสอบที่จะเป็นการวิเคราะห์และทำให้เห็นว่าผู้เรียนเป็นอย่างไร เราจะสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาในอนาคตได้อย่างไร โดยสภาการศึกษาจะมีการติดตามผลการดำเนินงานในเชิงพื้นที่ แล้วนำผลการติดตามนั้นมาปรับให้สอดคล้องกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน ภาวะโลกเดือด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงแนวทางการพัฒนามาตรฐานการศึกษาของชาติรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต โดยมีการเสนอคณะรัฐมนตรีว่า ในปีหน้ามาตรฐานของคนไทยที่ระบุว่า คนไทยต้องเป็นคนไทย 4.0 มีคุณลักษณะอย่างไร และต่อไปคนไทยยุคอัลฟาที่เติบโตมากับเทคโนโลยีต้องเป็นอย่างไร มีทักษะอะไร เพื่อตอบโจทย์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลง
“สิ่งที่สภาการศึกษาดำเนินการสามารถตอบโจทย์นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรียนดี มีความสุข Anywhere Anytime ได้ โดยในการจัดการศึกษาจะต้องเติมเรื่องของนวัตกรรมเข้าไปด้วย ที่บอกว่าเด็กไทยจะต้องก้าวทันเทคโนโลยี 4.0 ก็ไม่ใช่แค่เรียนอยู่ในชั้นเรียนเท่านั้น ต้องมีการวัดภูมิปัญญาเด็ก โดยเครื่องมือวัดภูมิปัญญาก็เป็นนวัตกรรมหนึ่ง โดยสภาการศึกษาได้ดำเนินการวัดมาตรฐาน วัดแววเด็กแต่ละช่วงชั้น เพราะเด็กมีความแตกต่างในแต่ละระดับจากการบ่มเพาะเลี้ยงดูของผู้ปกครองหรือสภาพสังคม ซึ่งวิธีการนี้ก็จะเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่จะตอบโจทย์เรื่องของเรียนดีมีความสุขได้ เพราะเมื่อเราจะสามารถกลับมาจัดการเรียนการสอนเฉพาะบุคคลได้ ทำให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ชอบ เรียนในสิ่งที่ใช่ ซึ่งสุดท้ายก็ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข”ดร.อรรถพลกล่าว
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวด้วยว่า จากการพูดคุยกับผู้อำนวยการใหญ่โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) บอกว่า ในการทดสอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โอเน็ต วีเน็ต สิ่งที่น่าสนใจคือไม่ควรให้ความสำคัญกับคะแนนที่ได้เพราะเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น แต่ควรให้ความสนใจผลการวิเคราะห์มากกว่า เพราะจะเป็นตัวที่บอกว่า โรงเรียนนั้นอ่อนหรือขาดเรื่องอะไร เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ไม่ได้สอนให้เด็กนำไปใช้ หรือ วิชาคณิตศาสตร์ขาดเรื่องการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเมื่อรู้ผลของการวิเคราะห์แล้ว ทางโรงเรียนทั้งผู้บริหาร ฝ่ายวิชาการก็ต้องวางแผนและพัฒนาครูให้สอดคล้องกับแผน ซึ่งเมื่อเปิดเทอมครูก็จัดการเรียนการสอนตามแผนที่วางไว้ เด็กก็จะเกิดการพัฒนา และไม่เป็นการกดดันครูว่าสอนแล้วผลคะแนนที่ได้ต่ำ ซึ่งวิธีการนี้เป็นการบอกทิศทางการจัดการศึกษาและวิธีการปัญหาผู้เรียนในอนาคตได้