เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2567 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับเด็กรุ่นใหม่ หรือเจนอัลฟ่า (Gen Alpha) ที่กำลังเติบโต และจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อสังคมในอนาคตอันใกล้นี้ พ่อแม่ ผู้ปกครองและครูต้องทำความเข้าใจกับลักษณะของเจนอัลฟ่าที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกับคนรุ่นก่อน เพื่อบ่มเพาะและการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับพวกเขา
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวต่อไปว่า เจนอัลฟ่าเป็นส่วนผสมผสานคุณลักษณะเฉพาะจากรุ่นก่อน ๆ มีจิตวิญญาณที่เป็นอิสระของเจนเอ็กซ์ (Gen X) มีความคล่องแคล่วด้านดิจิทัล และจิตวิญญาณของผู้ประกอบการของเจนวาย (Gen Y) และกรอบความคิดที่ใส่ใจต่อสังคมของเจนซี (Gen Z) เกิดมาในโลกดิจิทัลที่เทคโนโลยีผสมผสานเข้ากับทุกแง่มุมของการเรียนรู้และเวลาว่าง จึงทำให้กลายเป็น ชาวดิจิทัลโดยกำเนิด (Digital Natives) และสร้างเอกลักษณ์ของตนเองในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น คนรุ่นเจนอัลฟ่าจึงรักอิสระ (Independent Mavericks) มีความเป็นตัวของตัวเองสูงตั้งแต่เด็ก ชอบตัดสินใจด้วยตัวเอง ชอบการสำรวจและค้นหาสิ่งต่าง ๆ และมีจิตวิญญาณของการพึ่งพาตนเอง นอกจากนี้ ยังปรับตัวได้อย่างว่องไว (Nimble Chameleon) เพราะเติบโตในยุคที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม จึงมีมุมมองที่เปิดกว้าง และโดดเด่นในการปรับตัวและเติบโตในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีความยืดหยุ่นในการเรียนรู้ พร้อมยอมรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีสร้างให้เป็นจริง และเป็นนวัตกรโดยธรรมชาติ หรือพ่อมดผู้ประกอบการและสร้างสรรค์ (Entrepreneurial and Creative Wizards) จึงมีคุณลักษณะการเป็นทูตระดับโลก (Global Ambassadors) ไปด้วย และมีความตระหนักถึงความท้าทายระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความยุติธรรมทางสังคม และสิทธิมนุษยชน
“ จากการวิจัยพบว่า 76% ของเจนอัลฟ่าต้องการเป็นนายตัวเอง มีแนวโน้มการเป็นผู้ประกอบการหรือการแสวงหาอาชีพหลากหลายอื่นนอกเหนือจากเส้นทางอาชีพแบบดั้งเดิม เจนอัลฟ่าได้ชื่อว่าเป็นผู้มีข้อมูลท่วมท้น (Data and Information-drenched) เนื่องจากพวกเขาอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่มีมากมายและเข้าถึงง่าย โดยมีเนื้อหาที่ปรับให้เหมาะกับความชอบและความสนใจของตนเอง แต่สังคมออนไลน์นั้นมีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมของ เจนอัลฟ่า กลายเป็น ผู้ใช้อารมณ์และความรู้สึกนำ (Emotionally and Psychologically Driven) เจนอัลฟ่าเป็น แชมป์สุขภาพจิต (Mental Health Champions) เนื่องจากพวกเขาตระหนักและให้ความสำคัญต่อสุขภาพจิตตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ผลการศึกษาก็ยังพบว่า 1 ใน 4 ของวัยรุ่นปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ที่มีอาการป่วยทางจิตขั้นรุนแรง ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จึงต้องอย่าลืมว่าพวกเขายังคงมีจิตใจของเด็กที่ต้องการความสนใจและการดูแล” ดร.อรรถพล กล่าวและว่า พ่อแม่ผู้ปกครองและครูควรตระหนักถึงคุณลักษณะพิเศษเหล่านี้เพื่อสามารถจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับกลุ่มเจนอัลฟ่าได้ โดยรูปแบบที่น่าจะเหมาะกับเจนอัลฟ่า เช่น การใช้ทักษะเป็นฐาน (Skill-based Education) เน้นทักษะที่จำเป็น ให้สามารถวิเคราะห์ แยกแยะ ประเมินแหล่งที่มาและเลือกใช้ข้อมูลอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการเรียนรู้จากสถานการณ์จริงและการเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เป็นต้น รวมถึงการใช้ดิจิทัลเป็นฐาน (Digital-based Education) อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องให้ความสำคัญกับทักษะทางสังคมและอารมณ์ การรักษาสมดุลของเวลาให้เหมาะสมระหว่างโลกในหน้าจอและโลกแห่งความเป็นจริง ดังนั้น เราจะสอนเด็กรุ่นใหม่เหมือนรุ่นที่เราเรียนไม่ได้อีกแล้ว เพราะโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว หากใช้วิธีเดิม ย่อมไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีแบบเดิมในสภาวะที่ต่างกัน หากเราต้องการผลลัพธ์ที่ดีเราต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงของโลกและปรับที่ตัวเรา และวิธีการที่เราใช้และสื่อสารกับคนรุ่นใหม่