เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงสถานศึกษาที่ได้รับความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆตั้งแต่วันแรก และกำชับให้แต่ละหน่วยงานในสังกัด กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ให้สังเกตการณ์และแก้สถานการณ์ตามแผนเผชิญเหตุที่ได้เตรียมการเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว และให้มีการรายงานสถานการณ์เป็นเรียลไทม์ทุกวันด้วย

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าขณะนี้มี 18-19 จังหวัดรายงานเข้ามาแล้วว่ามีนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแล้ว จำนวน 3,211 คน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตนได้มีการประชุมวิธีการป้องกันและเยียวยา และได้กำชับไปยัง ผอ. เขตพื้นที่การศึกษา และผอ. โรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในทางน้ำ ให้มีการอพยพเคลื่อนย้ายสิ่งของมีค่าและทรัพย์สินของทางราชการขึ้นไปไว้ในที่สูงไว้ก่อนแล้ว ส่วนโรงเรียนที่เป็นทางน้ำที่จะไหลผ่านต่อไปก็ให้เฝ้าระวัง โดยสั่งการให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษาตั้งวอร์รูม เพื่อให้เตรียมการเฝ้าระวังและซ้อมแผนเผชิญเหตุไว้ เช่น หากมีน้ำป่าไหลหลากมาจะป้องกันและอพยพอย่างไร และถ้าน้ำท่วมขังจะมีแผนป้องกันอย่างไร ขณะเดียวกันก็ได้กำชับไปยัง ผอ. โรงเรียนว่าหากจำเป็นต้องปิดการเรียนการสอนก็ให้ปิดได้ทันที เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและคุณครูทุกคนและให้สอนชดเชยแบบอื่นๆทดแทนต่อไป

“สพฐ.ได้จัดเงินจากกองทุนช่วยเหลือนักเรียนประสบภัย ลงไปให้เขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)ในพื้นที่น้ำท่วมแล้ว เพื่อนำไปจัดซื้อถุงยังชีพช่วยเหลือนักเรียนครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับผลกระทบในเบื้องต้น ซึ่งขณะนี้ที่จ.เชียงราย และจังหวัดน่าน น้ำท่วมหนักที่สุด จึงให้เขตพื้นที่ฯจัดถุงยังชีพ อาหารไปช่วยเหลือนักเรียนและครูที่บ้านถูกน้ำท่วมแล้ว“ เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ขณะที่ นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็มีความห่วงใยวิทยาลัยที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ทั้งหมด 18-19 จังหวัด และได้สั่งการให้มีการสำรวจและรีบรายงานความเสียหายเข้ามาเพื่อให้การช่วยเหลือ ส่วนวิทยาลัยที่ไม่ถูกน้ำท่วม ก็ให้สั่งการออกไปช่วยดูแลช่วยเหลือประชาชน ซึ่งขณะนี้ทางวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงรายก็ได้ทำอาหารไปช่วยเหลือประชาชนและนักเรียนที่ถูกน้ำท่วมแล้ว ขณะเดียวกัน หลังน้ำลด รมว.ศธ.ก็สั่งการให้วิทยาลัยอาชีวศึกษา ตั้งศูนย์ Fix it Center เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูหลังน้ำลด ในการซ่อม สร้าง เสริม ให้กับชาวบ้านและสถานศึกษารวมไปถึงโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย เช่น ไปช่วยเช็คระบบไฟฟ้าต่างๆภายในโรงเรียนที่ถูกน้ำท่วม และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆของประชาชนในช่วงหลังน้ำลด

“อาชีวะพร้อมในทุกสถานการณ์ ที่จะเข้าไปดูแลช่วยเหลือ ซ่อม สร้าง เสริม ให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม“ เลขาธิการ กอศ. กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments