เมื่อเวลา 9.00 น. วันที่ 24 สิงหาคม 2567 ที่ สนามช้างอารีนา จังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีพิธีเปิดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 14 (14th SOM-ED+3) โดยมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศอาเซียนบวกสาม เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย ร่วมกับจีน สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่น และผู้แทนจากติมอร์-เลสเต เข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานเครือข่าย ด้านการศึกษาของอาเซียนบวกสาม รวม 90 คน
ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการของไทย ในฐานะประธานการประชุม กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีในหารือประเด็นต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาของอาเซียนบวกสาม ระหว่างปี พ.ศ. 2561 – 2568 (ค.ศ. 2018 – 2025) โดยมุ่งเน้นพัฒนาการศึกษาให้เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงการสร้างความร่วมมือ และความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและอาเซียนบวกสาม
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในหลายด้าน เช่น การทำงาน การสื่อสาร และการศึกษา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องเร่งปรับตัวและพัฒนาวิธีการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของโลกในปัจจุบัน การประชุมครั้งนี้จึงสะท้อนถึงความมุ่งมั่นและความร่วมมือจากทุกประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม ที่พร้อมทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษา สร้างโอกาสให้แก่เยาวชนในอาเซียน และพัฒนาการศึกษาในอนาคต
หลังพิธีเปิดการประชุม Mr. Ekkaphab Phanthavong รองเลขาธิการอาเซียน ได้รายงานที่ประชุมฯ ถึงมติที่ประชุมอาเซียนบวกสามด้านการศึกษาครั้งที่ 13 เมื่อเดือนตุลาคม 2566 พร้อมทั้งรายงานสถานะปัจจุบันของการดำเนินงานภายใต้แผนงานอาเซียนด้านการศึกษา ปี ค.ศ. 2021-2025 และแผนปฏิบัติการอาเซียนบวกสามด้านการศึกษาปี ค.ศ. 2018-2025 จากนั้นได้เปิดเวทีให้ประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสามรายงานผลการดำเนินกิจกรรมและโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการอาเซียนบวกสามด้านการศึกษา ดังนี้
– สิงคโปร์ นำเสนอความคืบหน้าของผลสำเร็จของการจัดการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาในกรอบอาเซียนบวกสาม
– ประเทศไทย รายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับการจัดเตรียมการประชุมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 2 ว่าด้วยอนาคตทางการศึกษาที่จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2567
– ประเทศญี่ปุ่น รายงานความคืบหน้าของโครงการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางการศึกษาในประเทศอาเซียนบวกสาม รวมถึงการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
– จีน รายงานความคืบหน้าโครงการจัดสรรทุนการศึกษาผู้นำเยาวชนอาเซียน-จีน โครงการ “Building an Amicable Home Together : Vision and Action on ASEAN – China Education Cooperation and Development 2022-2030 โครงการสัปดาห์ความร่วมมือทางการศึกษาจีน-อาเซียน โครงการแลกเปลี่ยนพลเมืองอาเซียน-จีน ปี ค.ศ. 2024
– สาธารณรัฐเกาหลี รายงานความคืบหน้าการจัดการอุดมศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษในอาเซียน การจัดสรรทุนการศึกษาสำหรับคณาจารย์มหาวิทยาลัยในสาธารณรัฐเกาหลี รวมทั้งโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์อาเซียน
– สำนักเลขาธิการซีมีโอ และมหาวิทยาลัยเครือข่ายอาเซียน รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับแผนปฏิบัติการฯ อาเซียนบวกสาม
นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังได้รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินงานของคณะทำงานด้านการเคลื่อนย้ายนักศึกษาและการประกันคุณภาพการอุดมศึกษาในประเทศอาเซียนบวกสาม (Working Group on Student Mobility and Quality Assurance of Higher Education Among ASEAN Plus Three Countries) ทั้งยังได้รับทราบจากสาธารณรัฐเกาหลีที่ดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการอาเซียนบวกสามด้านการศึกษา เรื่อง แนวปฏิบัติร่วมอาเซียนบวกสามสำหรับรูปแบบใหม่ของการเคลื่อนย้ายนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา (APT Joint Guidelines for New Form of Mobility in Higher Education)
ทั้งนี้ที่ประชุมฯ ยังได้ร่วมกันพิจารณาร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีด้านการศึกษาของอาเซียนบวกสามเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนบวกสามให้การรับรอง ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 26 สิงหาคม 2567 เวลา 08.45-10.45 น.