เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผย ระหว่างการเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดทำ Big Data ของศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัด และการเทียบรายวิชาของหลักสูตรแต่ละระดับเข้าสู่ระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ : จังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยมี ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา นายอาคม สุชาติพงษ์ ศึกษาธิการจังหวัดนครศรีธรรมราช นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมด้วย ผู้บริหาร นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัด ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด โรงเรียน และมหาวิทยาลัย ร่วมประชุม ณ ห้องชมพูพล โรงแรมเมืองลิกอร์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ทั้งนี้ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวถึงความสำคัญของระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติที่กำลังดำเนินการเทียบรายวิชาในจังหวัดนำร่อง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิตให้แก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดความร่วมมือจัดทำฐานข้อมูล (Big Data) ของศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัด เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม โดยประโยชน์ของระบบธนาคารหน่วยกิตนั้นถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม สามารถนำผลการเรียนรู้และประสบการณ์ทั้งจากในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย มารับรองและเทียบโอนกันได้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของประชาชน  ลดขั้นตอนและความซ้ำซ้อนในการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้คุณภาพแรงงานไทยตอบโจทย์ตลาดงานท่ามกลางสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ดร.นิติ  กล่าวถึงการดำเนินงานว่า กลไกการดำเนินงานของระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติที่ต้องเชื่อมโยงกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (National Qualifications Framework : NQF) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ โดยมีการรับรองหลักสูตรและแบ่งมาตรฐานเป็นระดับต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงหน่วยกิตกันได้ เนื่องจากผู้เข้าร่วมการประชุมมาจากหลายภาคส่วนที่รูปแบบการทำงานแตกต่างกัน จึงมีการอธิบายให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติของการศึกษาแต่ละรูปแบบ ได้แก่ การศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา และการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อให้ผู้เข้าร่วมทราบถึงข้อมูลการดำเนินงานตามรูปแบบงานของตนเองอย่างพอสังเขปและสามารถนำรายวิชาแต่ละหลักสูตรมาเปรียบเทียบกันได้ นอกจากนี้ประเด็น Micro-Credentials ถือเป็นอีกหนึ่งองค์ความรู้สำคัญที่ถูกกล่าวถึงในการบรรยายครั้งนี้ หมายถึง ระบบทะเบียนสะสมและกลไกการเทียบโอน ผลลัพธ์การเรียนรู้ ที่เฉพาะเจาะจงหรือระดับสมรรถนะย่อยที่ได้จากการศึกษาอบรมทั้งจากการฝึกปฏิบัติและการเรียนรู้จริง นับเป็นอีกเป้าหมายสำคัญในการดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ

นอกจากนี้ รองเลขาธิการสภาการศึกศส ยังได้อธิบายแนวทางการดำเนินการเทียบรายวิชาหรือผลลัพธ์การเรียนรู้ พร้อมทั้งอธิบายวิธีการใช้งาน “แบบฟอร์มการวิเคราะห์และเปรียบเทียบรายวิชา ฯ” ซึ่งเป็นแบบฟอร์มที่ผู้เข้าร่วมการประชุมต้องใช้สำหรับดำเนินการเทียบรายวิชา หลังจากนั้นที่ประชุมได้แบ่งกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มที่ 2 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ กลุ่มที่ 3 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงและระดับอุดมศึกษา และกลุ่มที่ 4 หลักสูตรระยะสั้นและการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อดำเนินการเชื่อมโยงและการเทียบรายวิชาของหลักสูตรแต่ละระดับของศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัดผ่านวิธีการสนทนากลุ่ม (Focus group) โดยแบ่งกลุ่มเป็น 4 กลุ่มพร้อมวิทยากรคอยให้คำปรึกษา ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มที่ 2 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ กลุ่มที่ 3 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงและระดับอุดมศึกษา และกลุ่มที่ 4 หลักสูตรระยะสั้นและการศึกษาตลอดชีวิต

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments