เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) มอบนโยบายแก่ผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 18 วิทยาลัย และเป็นประธานเปิดอาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการโดยมี นายราตรีสวัสดิ์ ธนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ รักษาการตำแหน่งที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน และนายธนะรัชต์ จุลรัตน์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพเบตง ผู้บริหาร และคณะครู รับฟังนโยบาย ณ วิทยาลัยการอาชีพเบตง จังหวัดยะลา
นายยศพล กล่าวมอบนโยบายแก่ผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ภายในการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการการติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาการอาชีวศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตอนหนึ่งว่า “จากการขับเคลื่อนนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รองรับนโยบายของรัฐบาล และนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ “เรียนดี มีความสุข” โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษา พัฒนาหลักสูตรทวิภาคี เน้นการเรียนในภาคปฏิบัติให้ผู้เรียนมีสมรรถนะที่ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ และได้รับการยอมรับตามมาตรฐานของหน่วยงาน สิ่งสำคัญคือ มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ และตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ ซึ่งในปีการศึกษานี้ มีผู้เข้าเรียนเทียบสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2566 แต่สัดส่วนผู้จบยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดย สอศ. เร่งขับเคลื่อนผู้อาชีวะอย่างต่อเนื่อง Up-skill และRe-skill ผู้เรียนที่จบไปแล้วดึงกลับเข้าสู่ระบบ ผลิตตรงตามสมรรถนะและพอเพียงต่อความต้องการ”
เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากมอบนโยบายให้กับผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้แล้ว ยังได้เปิดอาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการ ของวิทยาลัยการอาชีพเบตง ซึ่งเป็นอาคารเรียน 7 ซึ่งได้รับงบประมาณจาก สอศ. เป็นอาคาร 4 ชั้น ขนาด 16 ห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นอาคารให้บริการทางวิชาการแบบบูรณาการ สาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง สาขาวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ และสาขาวิชาอาหารและโภชนาการ มีห้องเรียนภาคทฤษฎี และห้องเรียนภาคปฏิบัติการ เพื่อขับเคลื่อนภารกิจการจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน และเพิ่มทักษะสมรรถนะทางวิชาชีพ รวมถึงแหล่งบ่มเพาะสนผู้ประกอบการนักเรียน นักศึกษา ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ และบุคลากร ดังนั้นแล้ว อาคารเรียนและปฏิบัติการหลังนี้จะถูกใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ อันสำคัญของชาวเบตงต่อไป
“พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ การพัฒนาการเรียนการสอนในสถานศึกษา และพัฒนานักเรียนนักศึกษา ไม่เฉพาะทำให้เด็กมีวิชาชีพ มีความมั่นคงในชีวิต มีรายได้ระหว่างเรียน แต่ยังมีอีกหลากหลายมิติด้วยความเป็นพหุวัฒนธรรม ฝากท่านผู้บริหารในการสร้างความมั่นคงในพื้นที่นี้ การศึกษาเพื่อความมั่นคง การศึกษาเพื่ออาชีพ ฝึกนักเรียนนักศึกษาให้มีทักษะ สมรรถนะวิชาชีพ พัฒนาทักษะทางภาษา ร่วมจัดการศึกษาทวิภาคีกับสถานประกอบการ การจัดการศึกษาทวิวุฒิกับต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายหรือเจตนารมย์ของชาวอาชีวศึกษา ขอชื่นชมการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาที่ผ่านมาที่ดำเนินการอย่างมีคุณภาพ และร่วมกันผลิตกำลังคนอาชีวะที่มีสมรรถนะเพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป” เลขาธิการ กล่าว