เหลือเพียงเดือนเศษ ๆ ก็จะครบ 1 ปี ของการเข้ามาคุมบังเหียนการศึกษาของพรรคภูมิใจไทย ด้วยการส่ง พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ 1 ใน 3 อดีตข้าราชการตำรวจในรัฐบาลยุค “เศรษฐา 1” (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง) มานั่งเก้าอี้ เสมา 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ส.ส.พระนครศรีอุยธยา เขต 3 รับตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือ เสมา 2 และ “สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ” “เสี่ยโต้ง แห่งเมืองดอกลำดวน” เข้ามารับบทผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ
โดยเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายการศึกษา และแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ภายใต้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ที่เน้นการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา 4 ด้าน ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะ, ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่นด้วยความโปร่งใส, แก้ไขปัญหาหนี้สิน, จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการ 1 ครู 1 Tablet และเร่งลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง 6 ด้าน เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา, 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ, ระบบแนะแนวการเรียนและเป้าหมายชีวิต, การจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ, การจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา, มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ
ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 10 เดือนมานี้ ชาวการศึกษาต่างพยายามเดินหน้าและขับเคลื่อนงานตามแนวปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การ “เรียนดี มีความสุข” ตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ แต่ระหว่างทางเดินย่อมเป็นธรรมดาที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบดอกไม้ กว่าจะเห็นผลไม่ใช่แค่ปีสองปีแล้วเด็กจะมีความสุขได้ ผู้ปกครองจะมีความสุข ครูจะมีความสุข ผู้บริหารจะมีความสุข ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นการเดินบนพื้นที่มีแต่อุปสรรค ความขาดแคลน บนความไม่พร้อม และปัญหาต่าง ๆ มากมาย
อย่างการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ทุกรัฐบาลรู้ ทุกรัฐบาลเห็นปัญหา พยายามแก้ไข หาทางช่วยลดดอกเบี้ย หาทางรวมหนี้มาไว้ที่เดียว ห้ามก่อหนี้เพิ่ม ต้องสร้างวินัยทางการเงิน ถึงแม้จะมีหลายแหล่งทุนให้ความร่วมมือเปิดโอกาสให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย ที่สุดแล้วเอาเข้าจริงไม่มีใครกล้ายืนยันหรอกว่าปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรการศึกษาแก้ไขได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่อย่างน้อยก็เป็นความหวังให้ครูมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีความสุข แล้วหันมาทุ่มเทให้กับการจัดการเรียนการสอนได้มากขึ้น
อย่างเรื่องการอุปกรณ์การเรียนการสอน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของนโยบาย เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere AnyTime) เรียนฟรี มีงานทำ โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะมีการสร้างระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เรื่องนี้ก็ยังอึมครึมไม่รู้ทิศทางจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครตอบได้ชัดเจนแม้แต่เจ้ากระทรวง รู้แต่เพียงคร่าว ๆ ว่า โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา(Anywhere AnyTime) เป็นงบประมาณผูกพัน 5 ปี (2568-2572)วงเงิน 22,102,973,600 บาท โดยงบประมาณปี 2568 ได้รับจัดสรรมา 3,000 กว่าล้านบาท จากที่ขอไป 7,000 กว่าล้าน ส่วนปีงบประมาณ 2567 งบประมาณ 400 กว่าล้านบาทก็หมดไปกับค่าจ้างที่ปรึกษาซะเป็นส่วนใหญ่ โดยเป็นค่าจ้างที่ปรึกษาพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มการจัดการเรียนรู้ 200,883,400 บาท ค่าจ้างที่ปรึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสื่อมัลติมีเดียปฏิสัมพันธ์ 245,000,000บาท แล้วก็ค่าเช่าระบบประมวลผลบนคลาวด์ 36,380,000 บาท รู้แค่นี้จริง ๆ
แต่ที่รู้เห็นได้ชัดตอนนี้คือ ข่าวการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนองค์การค้าของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.)ที่ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์(1977)จำกัด คู่พิพาทตั้งแต่ปี 2566 ออกมาฟ้องกราวรูด ต่อเนื่องมาถึงปี 2567 ซึ่งองค์การค้าของสกสค.ได้ผูกขาดพิมพ์หนังสือแบบเรียนให้กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)มาอย่างยาวนาน โดยการพิมพ์หนังสือเรียนขององค์การค้าฯที่ผ่านมามีเพียง 5 เสือโรงพิมพ์ ที่ได้พิมพ์หนังสือกับองค์การค้าฯ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าการดำเนินการที่ผ่านมาทำถูกต้องตามระเบียบพัสดุจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ จนกระทั่ง บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ เริ่มเข้ามาประกวดราคาเมื่อปี 2566 และได้ร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างพิมพ์แบบเรียนขององค์การค้าของ สกสค. โดยวิจารณ์ร่างการประกวดราคา (ทีโออาร์) 3 ข้อ และยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ข้อกำหนดทีโออาร์ดังกล่าว ซึ่งต่อมาศาลสูงสุดได้มีคำสั่งตามศาลปกครองกลางในการทุเลาการบังคับใช้ข้อกำหนดทั้ง 3 ข้อ ตามที่ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ยื่นฟ้อง กรณีนี้ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ไม่ได้ร้องให้ยกเลิกประกาศทีโออาร์ ขณะที่ปี 2567 ได้ร้องเรียนให้ยกเลิกประกาศทีโออาร์ 4 ครั้ง แต่ผู้บริหารองค์การค้าฯได้ออกมาให้ข่าวว่าบจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ มีหนังสือร้องเรียนให้ยกเลิกทีโออาร์ ทั้งหมด 17 ฉบับ ซึ่ง บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ทันทีว่าไม่เป็นความจริง การให้ข่าวลักษณะนี้ทำให้ภาพพจน์ของ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯได้รับความเสียหาย พร้อมตอบกลับมาว่า การพิจารณาราคาจัดซื้อจัดจ้างพิมพ์แบบเรียนปี 2566 มีการพิจารณาราคาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากองค์การค้าของ สกสค. มีการกำหนดหลักเกณฑ์การให้คะแนน โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้เข้าประกวดราคารับทราบ มากำหนดหลักเกณฑ์ในวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ทั้งที่ร่างประกวดราคาประกาศตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 โดยในร่างทีโออาร์ระบุเพียงผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีเอกสารยืนยันรับรองจากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า และกระดาษต้องมีคุณสมบัติตามที่ทีโออาร์กำหนด แต่ในเอกสารวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ได้มีการระบุถึงคุณสมบัติของผู้รับรองกระดาษ ซึ่งทาง บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ไม่ทราบมาก่อนว่ามีการกำหนดเงื่อนไขเช่นนี้ ทำให้ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ถูกตัดคะแนนไป 6 คะแนนในข้อนี้ เนื่องจากทาง บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ได้ยื่นเอกสารรับรองจากผู้นำเข้า ทำให้รายการที่ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ได้รับการประกาศเป็นผู้ชนะ จะต้องเสนอต่ำกว่าผู้เสนอรายอื่น 12% ทำให้ได้รับการประกาศเป็นผู้ชนะ12 รายการ จาก 96 รายการที่ยื่นเสนอราคาต่ำสุด และจุดนี้จึงเป็นสารตั้งต้นให้ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ร้องเรียนองค์การค้าฯเรื่องการล็อกสเปกกระดาษด้วย ซึ่งกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ(กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฏร ก็เชิญบริษัทกระดาษไปชี้แจงในหลายประเด็นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นองค์การค้าฯจ่ายค่าจ้างผลิตแบบเรียนให้กับบริษัทกระดาษโดยตรง แทนที่จะจ่ายให้โรงพิมพ์คู่สัญญา
ส่วนปี 2567 บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ คิดว่าการกำหนดทีโออาร์ โดยแบ่งเป็น 30 กลุ่ม และเลือกได้เพียงกลุ่มละ 1 เล่ม เป็นการกีดกัน บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ให้รับงานได้ไม่เกิน 5 ล้านกว่าเล่ม ซึ่ง บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ สามารถที่รับงานผลิตได้มากกว่านี้ และบจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ คิดว่าการแบ่งกลุ่มแบบนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อการฮั้วประมูลอันจะทำให้รัฐเสียหาย และทำให้เด็กผู้ปกครองต้องจ่ายเงินเกินความเป็นจริง โดย บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ได้ออกแถลงการณ์ตั้งข้อสังเกตว่าทางองค์การค้าของ สกสค. ออกข้อกำหนด เอื้อให้เอกชนทั้ง 5 เสือ ฮั้วประมูลกัน เพราะการเสนอราคาแทบจะไม่ชนกันเลย
ต่อมา เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567 บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ได้ยื่นหนังสือถึง พล.ตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ ขอให้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างขอบข่ายงานรายละเอียดและคุณลักษณะ(TOR)การจ้างพิมพ์หนังสือเรียนปี 2567 จำนวน 151 รายการ โดยวิธีการคัดเลือกไม่ชอบด้วยกฎหมายและส่อไปในทางทุจริต ซึ่ง พล.ตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ผลสรุปพบว่า ทุกขั้นตอนมีความโปร่งใส ซึ่ง บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ก็ได้เข้าไปยื่นประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือองค์การค้าฯตามขั้นตอน และชนะการประกวดราคามา 30 รายการ 5.3 ล้านเล่ม จำนวนเงิน 172 ล้านบาท และได้ดำเนินการเดินเครื่องพิมพ์หนังสือเรียนองค์การค้าฯ เพื่อให้เสร็จทันก่อนเปิดเทอมวันที่ 16 พฤษภาคม 2567
แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อองค์การค้าฯส่งปกหนังสือเพื่อเคลือบและเข้าเล่มให้ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ไม่ครบ เป็นสาเหตุให้ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ขอขยายเวลาส่งหนังสือออกไปอีก 15 วัน แต่องค์การค้าฯ นอกจากจะไม่ขยายเวลาให้ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ แล้วยังบอกเลิกสัญญาจ้างในวันเดียวกันด้วย ก็ไม่ทราบว่าเป็นความคิดของใคร เพราะผู้เขียนมองว่าเป็นการตัดสินใจผิดพลาดอย่างแรง เพราะผลที่ตามมาทำให้ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ ฟ้องกราวรูด ตั้งแต่ฟ้องหมิ่นประมาท พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ และพรรคพวก ฟ้องบอร์ดสกสค. ฟ้อง สพฐ.และ สสวท.และ ฟ้องผู้บริหารในองค์การค้าฯที่เกี่ยวข้องทั้งชุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ก็รับเรื่องไปดำเนินการสืบสวนต่อ กรมบัญชีกลางก็ออกมาให้ความเห็นว่าการจัดซื้อจัดจ้างขัดต่อหลักการพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 แถม กรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ(กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฏร ก็กำลังไล่บี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)
และล่าสุดมีเรื่องที่น่าตกใจสำหรับวงการศึกษาอีกแล้ว เมื่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ได้มีการจัดงานแถลงข่าวประกาศผลการประเมินที่มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ว่า คะแนน ITA โดยรวมของกระทรวงศึกษาธิการ ได้ 82.66 คะแนน ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินขั้นต่ำ 85 คะแนน โดยพบว่ามีตัวชี้วัดที่ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินใน 4 ด้านประกอบไปด้วย 1.การใช้ทรัพย์สินของราชการได้ 81.59 คะแนน 2.การปรับปรุงการทำงานได้ 75.81 คะแนน 3.การเปิดเผยข้อมูลได้ 77.27คะแนน และ 4.การป้องกันการทุจริตได้ 75.64 คะแนนขณะที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่ได้คะแนน ITA ต่ำที่สุดและไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินประกอบมีด้วยกัน 5 หน่วยงานประกอบไปด้วย 1.กองทุนสงเคราะห์ได้ 57.92 คะแนน 2.สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้ 65.23 คะแนน 3.กรมส่งเสริมการเรียนรู้ได้ 74.41 คะแนน 4.สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ 80.63 คะแนน และ 5. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้84.89 คะแนน และถ้าเจาะลึกรายละเอียดรายหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งได้คะแนน ITA ไม่ถึง 85 คะแนนว่าแต่ละหน่วยไม่ผ่านตัวชี้วัดในด้านใดบ้าง จะได้รายละเอียดเชิงลึก ๆ 1.กองทุนสงเคราะห์ ไม่ผ่านตัวชี้วัดใน 4 ด้านได้แก่ 1.ประสิทธิภาพการสื่อสารได้ 74.96 คะแนน 2.การปรับปรุงการทำงานได้ 60.68 คะแนน 3.การเปิดเผยข้อมูลได้ 32.38 คะแนนและ 4.การป้องกันการทุจริตได้ 0.00 คะแนน 2.สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาไม่ผ่านตัวชี้วัดใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การใช้ทรัพย์สินของราชการได้ 80.87 คะแนน 2. การปรับปรุงการทำงานได้ 77.72 คะแนน 3.การเปิดเผยข้อมูลได้ 49.05 คะแนน และ 4.การป้องกันการทุจริตได้ 16.67 คะแนน 3.โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ไม่ผ่านตัวชี้วัดใน 2 ด้านได้แก่ 1.การปรับปรุงการทำงานได้ 74.16 คะแนน และ 2.การป้องกันการทุจริตได้ 75.00 คะแนน
สรุปแล้วก็ไม่มีพรรคไหนเข้ามาแก้ปัญหาการศึกษาอย่างจริงจัง นโยบายแต่ละพรรคที่เข้ามาดูเหมือนจะดี แต่สุดท้ายก็ไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ลงที่หลักสูตรว่าล้าสมัยต้องปรับปรุงใหม่ ไม่หันกลับไปมองว่าการบริหารราชการมาถูกทิศถูกทางหรือไม่? แถมยังทำงานกันแบบ..ลับ..ลับ..ลับ