เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2567 นายสุรศักดิ์ พันธุ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมาย จาก พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ไปเป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนานักเรียนทุนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยไปศึกษาต่อ ณ สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น โดยมีว่าที่ร้อยตรี ดร. ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เดินทางร่วมไปแสดงปาฐกถาพิเศษในพิธีเปิด พร้อมทั้งมอบโอวาทและให้กำลังใจแก่นักเรียนทุนกว่า 90 คน ในการศึกษาเล่าเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น นายวิชชุ เวชชาชีวะ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ให้การต้อนรับ
นายสุรศักดิ์ กล่าวตอนหนึ่ง ว่า ขอชื่นชมศักยภาพนักเรียนทุนทุกคนที่มีผลการศึกษาในระดับดีเยี่ยม ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนสถาบันไปเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันระดับต่างๆ หลายรายการ ซึ่งแสดงให้เห็นศักยภาพเด็กไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก และได้ฝากให้นักเรียนทุนทุกคนใช้เวลาและโอกาสที่มีอยู่ในการศึกษาเล่าเรียน และใช้ชีวิตให้ประสบความสำเร็จกลับไปพัฒนาประเทศไทย ตามที่โครงการฯ ได้ตั้งเป้าหมายไว้ นอกจากนี้ยังได้แจ้งข่าวสำคัญตามที่คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับเงื่อนไขการชดใช้ทุนของนักเรียนทุนรุ่นที่ 1 และ 2 และสถานที่ปฏิบัติงานของนักเรียนทุนทุกรุ่นสามารถปฏิบัติงานเพื่อใช้ทุนหลังสำเร็จการศึกษาของนักเรียนทุนทุกรุ่นได้ทั้งในหน่วยงานของรัฐ หรือ ภาคอุตสาหกรรม หรือ สถาบันไทยโคเซ็น เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุนตามสัญญา นับเป็นโอกาสอันดียิ่งของนักเรียนทุนทุกคน ที่รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้สามารถกลับมาปฏิบัติงานชดใช้ทุนในหน่วยงานที่มีความหลากหลาย ทั้งภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรม โดยไม่จำกัดภูมิภาคในประเทศไทย และไม่จำกัดสัญชาติของบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย เพื่อเป้าหมายการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 เห็นชอบให้ดำเนินโครงการทุนการศึกษาต่อสำหรับนักเรียนกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ไปศึกษาต่อ ณ สถานบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นทุนการศึกษาต่อ สำหรับนักเรียนทุนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ได้แก่ นักเรียนทุนรุ่นที่ 1 ปีการศึกษา 2561 และนักเรียนทุนรุ่นที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 24 ทุน และ คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 เห็นชอบโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค (โครงการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น(Thai KOSEN) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ สถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สถาบันโคเซ็น สจล.) และสถาบันโคเซ็นแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (สถาบันโคเซ็น มจธ.) และยังมีทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ไปศึกษา ณ สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น อีก 72 ทุน ตั้งแต่รุ่นปีการศึกษา 2563 เป็นต้นมา ทำให้ปัจจุบันมีนักเรียนเก่าของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มาศึกษา ณ สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งสิ้นกว่า 90 คน
นอกจากนี้ นักเรียนทุนทั้ง 6 รุ่น ได้นำเสนอผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ชีวิตความเป็นอยู่ และตัวอย่างผลงานวิจัย จาก 10 สถาบัน KOSEN อาทิ ผลงานวิจัย ประสบการณ์ฝึกงาน การเรียนและชั้นเรียนในสถาบัน KOSEN กิจกรรมในสถาบัน KOSEN วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ในญี่ปุ่น One Day in KOSEN กิจกรรมชมรม และกิจกรรมเสริมหลักสูตร ทำให้เห็นภาพพลังคนรุ่นใหม่ของประเทศไทยที่จะนำความสำเร็จความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ประเทศไทยในรัฐบาลปัจจุบันที่กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทย IGNITE Thailand จุดประกายพลังคนรุ่นใหม่ ในสร้างการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยที่ครอบคลุมตั้งแต่ระดับโครงสร้าง นโยบาย และกลไก เพื่อเสริมสร้างสังคมที่ก้าวทันพลวัตของโลก และเกื้อหนุนให้คนไทยมีโอกาสที่จะพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมกับการยกระดับกิจกรรมการผลิตและการให้บริการให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมต่อไป