เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. เปิดเผยว่า  สมศ. ได้มีการมอบหมายงานประเมินคุณภาพภายนอก ประจำปี 2567 ให้แก่ผู้ประเมินภายนอก สมศ. เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้ผู้ประเมินภายนอกได้เริ่มทำการวิเคราะห์ SAR เพื่อรวบรวมข้อมูลก่อนลงพื้นที่จริงในเดือนกรกฎาคมนี้ โดย สมศ. ยังคงเน้นย้ำแนวทางประเมิน 3 ประเด็นหลัก คือ ให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพภายนอกเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพ (Quality Improvement) เน้นลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้สนับสนุนการประเมินตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ และได้กำหนดรูปแบบและวิธีการตรวจเยี่ยมที่เหมาะสมทั้งแบบ Virtual visit, Onsite visit และ Hybrid จำนวนวันประเมิน 1-3 วัน แตกต่างกันไปตามบริบทสถานศึกษา

ผอ.สมศ.กล่าวต่อไปว่า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีสถานศึกษารับการประเมินคุณภาพภายนอกรวม 5,134 แห่ง ประกอบด้วย สถานศึกษาการศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) 2,055 แห่ง สถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3,035 แห่ง และสถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษา 44 แห่ง โดยสถานศึกษาที่เข้ารับการประเมินในรอบนี้จะเป็น 1. สถานศึกษาที่ครบรอบการประเมินคุณภาพภายนอก 5 ปี 2. สถานศึกษาขนาดเล็ก สถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกล และ 3. สถานศึกษาที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน ตามนโยบายของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และหากพบว่าสถานศึกษาใดมีปัญหาที่ต้องเร่งปรับปรุงแก้ไขโดยด่วน สมศ. จะเข้าไปติดตามและประเมินซ้ำอีกครั้งในระยะ 6 เดือน -1 ปี

ด้าน นายวาทกานต์ รอบคอบ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านช่องไม้ดำ จังหวัดกระบี่ เป็นสถานศึกษาที่ได้เข้าร่วมทดลองประเมินตามกรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา พ.ศ. 2567-2571 กล่าวว่า โรงเรียนบ้านช่องไม้ดำเป็นสถานศึกษาขนาดเล็กที่มีโอกาสเข้ารับการประเมินมาแล้ว 3 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดนี้เป็นครั้งที่ 4 โดยเข้ารับการประเมินเฉพาะระดับก่อนประถมศึกษา ซึ่ง สมศ. ได้มีการทดลองนำแนวทางและเกณฑ์ใหม่มาใช้ในการประเมินซึ่งพบว่ามีความแตกต่างจาก 3 รอบที่ผ่านมาอย่างมาก ที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการประเมินภายนอกจาก Paper based เป็น IT based ไม่ต้องใช้เอกสารจำนวนมากเหมือนการประเมินในรอบก่อนๆ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะนอกจากจะช่วยลดภาระในการจัดเตรียมเอกสารแล้ว ยังช่วยลดปริมาณขยะอีกด้วย นอกจากนี้ แนวทางและเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกรอบใหม่นี้ยังเชื่อมโยงกับการประกันคุณภาพภายในที่สถานศึกษาต้องทำอยู่แล้ว ทำให้ไม่ต้องเตรียมอะไรมาก ไม่ทำให้เกิดความยุ่งยากหรือเพิ่มภาระจากการทำงานตามปกติ

“การประกันคุณภาพภายในเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่ทุกโรงเรียนต้องทำ ไม่เช่นนั้นจะอยู่ไม่ได้ เพราะปัจจุบันผู้ปกครองเป็นคนรุ่นใหม่และให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพมาตรฐานการศึกษาอย่างยิ่ง ซึ่งหากโรงเรียนได้รับการประกันคุณภาพภายนอกจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับอย่าง สมศ. ร่วมด้วย ก็จะยิ่งเพิ่มความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจให้ผู้ปกครอง ซึ่งการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. จะช่วยสะท้อนให้เห็นจุดอ่อน – จุดแข็งที่โรงเรียนอาจมองไม่เห็น ช่วยให้ทราบถึงสาเหตุของปัญหา พร้อมช่วยเสนอแนะแนวทางปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ ทำให้การดำเนินงานของโรงเรียนมีทิศทางที่ชัดเจนและมีเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น” นายวาทกานต์กล่าว

ด้าน ดร.ณิชาภัทร รัตนวณิช ผู้แทนจากหน่วยกำกับการประเมินคุณภาพภายนอก กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมของผู้ประเมินภายนอกก่อนการลงพื้นที่ได้แบ่งเป็น 3 ช่วง 1. ช่วงเตรียมความรู้ 2.ช่วงฝึกอบรมปฏิบัติการ 3.ช่วงการนําไปใช้ สำหรับช่วงเตรียมความรู้ ผู้ประเมินต้องศึกษากรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอก พ.ศ. 2567-2571 พัฒนาทักษะในการเก็บข้อมูล เครื่องมือที่ต้องใช้ ซึ่ง สมศ. ได้เตรียมไว้ให้ผู้ประเมินเข้าไปศึกษาด้วยตนเองในรูปแบบ E-learning อีกทั้งยังต้องเข้ารับการทดสอบ Digital Literacy ด้วย ช่วงที่สองคือช่วงฝึกอบรมปฏิบัติการ ผู้ประเมินต้องเข้ารับการอบรม Workshop ซึ่งเป็นการจําลองสถานการณ์จริงกับกรณีศึกษาว่าเมื่อคณะผู้ประเมินเจอกับสถานการณ์ต่างๆ จะปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงได้อย่างไร และช่วงที่สำคัญที่สุดก็คือช่วงการนําไปใช้ จะเริ่มจากการจัดคณะและแบ่งหน้าที่คณะผู้ประเมินภายนอกก่อนลงพื้นที่จริง จากนั้นจะทำการศึกษารายงานการประเมินตนเอง (SAR) ของสถานศึกษา และผลการประกันคุณภาพภายนอกครั้งล่าสุดในระบบสารสนเทศเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอก (Automated QA) เพื่อที่จะทราบแนวทางการเก็บรวบรวมข้อมูล เนื่องจากเป็นขั้นตอนสำคัญในการค้นหาหลักฐาน เอกสาร และร่องรอย เพื่อสะท้อนผลการดำเนินงานของสถานศึกษาตามสภาพจริง โดยเฉพาะการนำข้อเสนอแนะจากการประกันคุณภาพภายนอกครั้งที่ผ่านมา นำมาสู่การปฏิบัติว่าได้มีการดำเนินการและได้ผลอย่างไร

ดร.ณิชาภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ ผู้ประเมินภายนอกจะเน้นการให้ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุง พัฒนา โดยมีระดับความเข้มข้น ได้แก่ 1. แก้ไขเร่งด่วนในเวลาที่กำหนด สำหรับผลการประเมินคุณภาพในระดับ 1 หรือ 2 การให้ข้อเสนอแนะจะระบุแนวทางและวิธีการที่ชัดเจนในตัวชี้วัด ซึ่งสถานศึกษาควรเร่งดำเนินการภายในระยะเวลา 1 ปีการศึกษา 2.เพื่อยกระดับคุณภาพ สำหรับผลการประเมินคุณภาพในระดับ 3 หรือ 4 การให้ข้อเสนอแนะอาจเป็นเรื่องของการกำหนดแนวทางรักษาระดับคุณภาพและพัฒนาผลลัพธ์ให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2 ปีการศึกษา และ 3.เพื่อการพัฒนาขึ้นสู่การสร้างนวัตกรรมต้นแบบระดับประเทศหรือนานาชาติ สำหรับผลการประเมินคุณภาพในระดับ 5 จะเป็นสถานศึกษาที่มีผลงานที่โดดเด่นหรือเป็นแบบอย่างที่ดี การให้ข้อเสนอแนะของผู้ประเมินภายนอกจะเป็นไปเพื่อส่งเสริมสถานศึกษามีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ผู้ประเมินภายนอกของ สมศ. มีเป้าหมายเดียวกัน คือ เมื่อสถานศึกษาเจอเรา สถานศึกษาต้องดีขึ้น อยากให้สถานศึกษาเชื่อใจและมั่นใจว่าผู้ประเมินภายนอกของ สมศ. ทุกคนมีความปรารถนาดี และตั้งใจใช้ความรู้ความสามารถ เพื่อมาช่วยพัฒนาสถานศึกษา เราไม่ได้เข้ามาเพื่อตรวจสอบหรือจับผิด แต่มาร่วมด้วยช่วยกันว่าตรงไหนที่ยังสามารถพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้น ตรงไหนที่ยังเป็นอุปสรรคปัญหาที่ทำให้การดำเนินการต่างๆ ยังไม่บรรลุเป้าหมาย อยากให้สถานศึกษาเชื่อใจ ไว้วางใจ และร่วมมือพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยไปด้วยกัน” ดร.ณิชาภัทร กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments