เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2567 สภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย (ส.ป.ค.ท.) จัดการประชุมสัมมนาวิชาการและประชุมใหญ่ประจำปี 2566 ที่ ศูนย์ประชุมนานาชาตินงนุชพัทยา (NICE) จังหวัดชลบุรี ภายใต้หัวข้อ “ครอบครัวดี โรงเรียนดี เด็กมีความสุข A happy home and a happy school bring children happiness” โดย ดร.นิวัต นาคะเวช นายกสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากพระบรมราโชบายด้านการคึกษาทั้ง 4 ด้านของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ 1.ทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2.พื้นฐานชีวิตที่มั่นคง-มีคุณธรรม 3.มีงานทำ-มีอาชีพ และ 4.เป็นพลเมืองที่ดี เมื่อวิเคราะห์แล้วจะเห็นว่า พระองค์ท่านเน้นและให้ความสำคัญในความเป็นครอบครัว โดย การมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง สิ่งที่พระองค์เน้นคือเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือความเอื้ออาทรต่อครอบครัว ส่วนเรื่องพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง-มีคุณธรรม คือการทำอย่างไรให้คนในครอบครัวมีคุณธรรม จริยธรรม ขณะที่การมีงานทำ-มีอาชีพ ก็จะมีครอบครัวเป็นพลังใจที่สำคัญที่สุดที่จะให้บุตรหลานเป็นคนดีและมีงานทำได้ และด้านสุดท้ายการเป็นพลเมืองที่ดี ซึ่งจะมีครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการทำให้บุตรหลานมีความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ
นายกสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า ปีนี้เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ประกอบกับพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ที่ทรงเน้นความสำคัญของสถาบันครอบครัว ทางสภาฯจึงเห็นพ้องกันว่าปีนี้การจัดการประชุมใหญ่ของสภาฯจะเน้นที่หัวข้อ “ครอบครัวดี โรงเรียนดี เด็กมีความสุข” เพราะสิ่งสำคัญในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นคนดีของประเทศต้องเริ่มต้นที่ครอบครัว แม้สังคมในปัจจุบันครอบครัวจะมีความหลากหลาย มีทั้งครอบครัวที่สมบูรณ์ ครอบครัวหย่าร้าง เด็กอยู่กับปู่บ้าง อยู่กับตาบ้าง อยู่กับยายบ้าง อยู่กับย่าบ้าง เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว และยิ่งครอบครัวไม่ใส่ใจกับการสร้างสุขภาพร่างกายที่ดี ละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างจิตใจที่ดีที่เบิกบาน เลี้ยงลูกด้วยการวางเงินไว้แล้วออกจากบ้าน ทะเลาะกันต่อหน้าลูก สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้
ดร.นิวัต กล่าวว่า การสร้างเด็กให้เป็นคนดีคนเก่ง อย่าคิดแต่จะให้ได้เกรด 4 เท่านั้น คนเรามีสมอง 2 ซีก ซีกซ้ายเป็นเรื่องความเป็นเหตุเป็นผลการเรียนรู้ด้านวิชาการ ตัวเลข วิทยาศาสตร์ ตรรกะ การคิดวิเคราะห์ ขณะที่ซีกขวาเป็นเรื่องของความมีสุนทรียภาพ ศิลปะ ความมีอารมณ์ที่แจ่มใส มีดนตรีในหัวใจ ซึ่งเราต้องพัฒนาสมองทั้ง 2 ซีกของเด็ก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้ปกครองส่วนใหญ่คิดแต่พัฒนาสมองซีกซ้าย มีแต่สติปัญญา คำนวณเก่ง แต่เด็กบางคนจะไม่เห็นหัวคนอื่น อวดดี อวดเก่ง เพราะไม่มีดนตรีในหัวใจ ไม่มีสุนทรียภาพ เพราะฉะนั้นการจะสร้างลูกหลานนอกจากจะให้เป็นคนเก่ง คนดีแล้ว เด็กต้องให้เด็กมีความสุขด้วย พ่อแม่ผู้ปกครองต้องไม่คาดหวังลูกหลานต้องเป็นหมอ เป็นวิศวกรเท่านั้น เพราะคนที่ประสบความสำเร็จ มีเงินรวยเป็นร้อยล้านพันล้าน บางคนยังไม่จบ ม.6 ก็รวยได้ ซึ่งผู้ปกครองต้องตระหนักและต้องคิดเรื่องนี้ด้วย นอกจากนี้ยังมีอีกสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องสร้างคือ ความรับผิดชอบต่อสังคม เราต้องสอนให้เขาเป็นผู้ให้ สอนให้เด็กเห็นคุณค่าของตนเอง เห็นคุณค่าของผู้อื่น ไม่ใช่สอนว่าเราต้องได้อะไร เหล่านี้คือสิ่งที่เราอาจจะยังมองไม่เห็น เพราะเราเห็นแต่ค่านิยมว่าลูกเราต้องเก่ง ต้องเป็นเจ้าคนนายคน
“ผมขอฝากว่าสิ่งสำคัญยิ่ง คือ ครอบครัวต้องดีและต้องดูแลบุตรหลานอย่างดี ซึ่งถ้าทำได้เด็กก็จะเป็นคนดี ขณะเดียวกันบรรยากาศในโรงเรียนก็ต้องดีด้วย โรงเรียนมีความปลอดภัย ครูก็ต้องดี ผู้บริหารต้องเก่ง เปิดโอกาสทางวิชาการให้เด็กมีทางเลือก ไม่ใช่จัดให้เป็นปิ่นโตยึดแต่หลักสูตรของสพฐ.หรือหลักสูตรแกนกลาง แต่โรงเรียนต้องบริหารหลักสูตรให้เด็กมีทางเลือก และครูก็ต้องรู้วิธีแปลงหลักสูตรไปสู่การเรียนการสอน มีวิชาเลือกที่สามารถจัดให้เด็กได้อย่างหลากหลาย รวมถึงทำอย่างไรให้ครูรักเด็กทุกคนเท่ากันทั้งหมด เพราะสิ่งที่พบทุกวันนี้ครูรักแต่เด็กเรียนเก่ง เรียบร้อย เชื่อฟัง ผมเคยเป็นเด็กหลังห้องเรียน และเคยถูกครูไล่ออกจากห้องเรียนมาก่อน จึงเข้าใจบรรยากาศในห้องเรียนเป็นอย่างดี ถ้าครูรักเด็กให้เท่า ๆ กัน เด็กจะมีความรู้สึกว่าบรรยากาศในห้องเรียนน่าเรียน และจะทำอย่างไรครูจะสอนให้เด็กไม่บูลลี่กัน เห็นคุณค่าของตนเองเมื่อเห็นคุณค่าของตนเองก็จะเห็นคุณค่าของเพื่อน และรู้จักคุณค่าของผู้อื่น ไม่ดูถูกกัน ไม่มีเรื่องของยาเสพติด การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรเพราะเขาเห็นคุณค่าของเพื่อน ดังนั้นถ้าครูดี โรงเรียนดี เด็กก็จะมีความสุขอยากเรียน และเรียนได้ดีด้วย ซึ่งผู้ปกครองก็มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่จะช่วยเหลือโรงเรียนอีกทางหนึ่ง ดังนั้น วันนี้เราจึงมีธีมการประชุมภายใต้แนวคิด ครอบครัวดี โรงเรียนดี เด็กมีความสุข”ดร.นิวัตร กล่าว
และเมื่อเวลา 12.30 น.ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ได้เดินทางมาเป็นประธานเปิดการประชุมฯ พร้อมบรรยายตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันมีความท้าทายในการจัดการศึกษาสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเด็กหลุดจากระบบ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คุณภาพของโรงเรียนในเมืองและชนบทที่แตกต่างกัน ปัญหาจำนวนนักเรียนลดลงเพราะจำนวนคนเกิดน้อยทำให้หลายโรงเรียนลดขนาดลง โดยปีนี้เด็กในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ลดลงเกือบแสนคน ปัญหาความประพฤตินักเรียนที่ออกนอกลู่นอกทางเพิ่มมากขึ้น ปัญหาการทะเลาะวิวาท รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่สมาคมผู้ปกครองและครูฯ รวมถึงผู้ปกครองและครูจะต้องเข้ามาช่วยดูนักเรียนและช่วยกันแก้ปัญหา
“วันนี้กระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะ รมว.ศึกษาธิการ ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำการศึกษาที่มุ่งไปสู่การเรียนดีและมีความสุข โดยเน้นย้ำเสมอว่าต่อไปนี้เราต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ไปสู่การเรียนดีและมีความสุข ซึ่งผู้ปกครอง ครูและทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เพราะเป้าหมายของเราคือต้องการให้นักเรียนทุกคนเป็นคนดี เมื่อเป็นคนดีก็จะมีความสุขแล้วก็จะเรียนเก่ง โดยตนเชื่อความดี ความสุข และความเก่งจะสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ เพราะครูมีคุณภาพไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็มีคุณภาพไม่ต่างกัน แต่ด้วยบริบท ความพร้อม สิ่งแวดล้อม งบประมาณที่เราจัดเป็นรายหัวอยู่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา วันนี้มีบางโรงเรียนได้งบฯรายหัว 7-8 หมื่นบาท แต่โรงเรียนทั่วไปยังได้เพียงหลักพัน ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำที่เห็น แต่ในอนาคต รมว.ศึกษาธิการได้ประกาศแล้วว่า ใน 1 อำเภอจะต้องมีอย่างน้อย 1 โรงเรียนคุณภาพ หมายความว่าเราจะสร้างคุณภาพเข้าไปสู่ประชาชนให้ได้อย่างทั่วถึง แต่จะเป็นไปได้เพียงใดตนเชื่อว่าสภาผู้ปกครองและครูฯจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง”เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า การมีเครือข่ายและการมีส่วนร่วมจะทำให้การจัดการศึกษาประสบความสำเร็จได้ ถ้าผู้ปกครองและครู รวมถึงคณะกรรมการสถานศึกษามองว่าการจัดการศึกษาเป็นบทบาทหน้าที่ร่วมกัน ตนมั่นใจว่าในอนาคตสิ่งที่เป็นปัจจัยและความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นเด็กออกกลางคัน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หรือ คุณภาพการศึกษาจะต้องได้รับการแก้ไขด้วยความร่วมมือของทุกคน และในช่วงนี้ที่กำลังมีการยกร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ตนก็ขอฝากทางสมาคมผู้ปกครองและครูฯช่วยออกแบบและเสนอความเห็นด้วย ตามที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ถึงเวลาที่ต้องปฏิวัติการศึกษา ไม่ใช่แค่ปฏิรูปแล้ว เพราะวันนี้การศึกษามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ได้มีการเสวนาหัวข้อ “เมืองไทยที่ฉันอยากเห็น คนไทยที่ฉันอยากเป็น” จากผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา และผู้แทนจากภาคประชาชนและนักเรียน ได้แก่ นายภักดี คงดำ และ นายพิศณุ ศรีพล อุปนายกสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย ,นายทศพล ทิพย์ทินกร ผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องหลานม่า , ผู้แทนนักเรียน นายธเนษฐ วรรักษ์ธนานันท์นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ โดยมี ดร.จินตนา ศรีสารคาม เลขาธิการสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ
โดยนายพิศณุ กล่าวว่า การมีวินัยสำคัญที่สุด ดังนั้นโรงเรียนต้องฝึกเด็กให้มีความอดทนและมีวินัยตั้งแต่เด็ก เพราะถ้าเขาไม่มีความอดทนตั้งแต่เด็ก โตขึ้นก็จะเป็นปัญหาของสังคม นายภักดี กล่าวว่า ตนมีความกังวลและเป็นห่วงเรื่องความอดทนของคน เพราะปัจจุบันคนมีความอดทนต่ำ เราต้องฝึกให้คนมีความอดทน อยากเห็นคนรุ่นใหม่สร้างจินตนาการที่ดีและให้รู้เท่าทันโซเชียล นายทศพล กล่าวว่า ต้องให้โอกาสเด็กเรียนในสิ่งที่เขาชอบเพราะถ้าเรียนในสิ่งที่เขาชอบแล้วจะทำให้เด็กประสบความสำเร็จ ขณะที่นายธเนษฐ กล่าวว่าครูต้องให้โอกาสเด็กได้แสดงความสามารถ สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และทั้ง 7 สถาบัน ต้องส่งเสริมสนับสนุนเยาวชนให้เรียนรู้และค้นหาตัวเอง