เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า ตามที่พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน ประโยชน์ ปัญหา อุปสรรค และผลการดำเนินการที่ผ่านมาของการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O – NET เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงระบบการทดสอบ O – NET ให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาไทยมากที่สุด เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้ปรับนโยบายในการทดสอบ O – NET ของนักเรียนเป็นการทดสอบโดยสมัครใจ ทำให้นักเรียนที่เข้ารับการทดสอบ O – NET ทุกระดับชั้นลดลงอย่างมาก แต่ต้นทุนงบประมาณในการจัดการทดสอบต่อหัวสูงขึ้น อีกทั้งผลการทดสอบก็ไม่สะท้อนคุณภาพในภาพรวมของระบบการศึกษาไทย
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวต่อไปว่า จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากครู ผู้บริหารสถานศึกษา และนักเรียนเบื้องต้น พบว่า เด็กจำนวนมากไม่เห็นความสำคัญหรือเห็นประโยชน์ของการสอบ O – NET เนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น ไม่มีความประสงค์ที่จะเรียนต่อในระดับสูง ได้สถานที่เรียนต่อแล้วจึงไม่จำเป็นต้องใช้ผลการทดสอบ O – NET ทำให้นักเรียนไม่ได้เตรียมตัวในการทำข้อสอบ หรือทำข้อสอบโดยไม่คิด ทำให้ผลคะแนนออกมาไม่ดี ด้านการจัดการเรียนการสอน นักเรียนจะคุ้นเคยกับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการจดจำ และการทดสอบที่เน้นการท่องจำ ไม่ได้รับการพัฒนาให้เกิดทักษะในการคิดวิเคราะห์ การคิดอย่างเป็นระบบ ทำให้นักเรียนไม่สามารถทำข้อสอบ O – NET ได้ นอกจากนี้ยังพบข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับ O – NET อีก เช่น การขาดแคลนครูกับการทดสอบO – NET ซึ่งพบว่าโรงเรียนขาดครูสาขาใดมักจะได้คะแนนในวิชานั้นต่ำ ข้อสอบ O – NET จะเน้นให้นักเรียนใช้การคิดวิเคราะห์ แต่ยังมีโรงเรียนจำนวนมากที่ขาดแคลนห้องปฏิบัติการ ทำให้นักเรียนไม่มีโอกาสฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์จากการปฏิบัติ และเรียนโดยการฟังครูบรรยายอย่างเดียว ทำให้ไม่เกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ ซึ่งส่งผลต่อคะแนน O – NET ของนักเรียนด้วย
ดร.อรรถพล กล่าวว่า ดังนั้นเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้าน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการศึกษาไทย สกศ.จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรวบรวมข้อมูลให้จากผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนตั้งแต่ครู ผู้อำนวยการสถานศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เพื่อนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายในการปรับปรุงระบบการทดสอบ O – NET ต่อ รมว.ศึกษาธิการภายในเดือนมิถุนายนนี้
“กล่าวโดยสรุป คือ การทดสอบ O – NET ในรูปแบบสมัครใจ หรือ การทดสอบแบบถ้วนหน้าก็ดี เป็นแนวนโยบายที่ต้องรีบตัดสินใจ เพราะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาโดยรวมของประเทศไทย ภายใต้หลักการสำคัญ 3 ประการศือ 1) การทดสอบ O – NET ควรจะถูกนำมาใช้ในการวัดคุณภาพขั้นต่ำที่ทุกสถานศึกษาพึงมีมากกว่าการใช้วัดความเป็นเลิศของสถานศึกษา และพยายามผลักดันให้นักเรียนได้คะแนน O – NET สูงแต่เพียงอย่างเดียว โรงเรียนแต่ละประเภทจะมีมาตรฐานคะแนน O – NET ไม่เหมือนกัน เช่น คะแนนขั้นพื้นฐานที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่นักเรียนทุกคนต้องทำได้ที่เน้นทักษะการอ่านออก เขียนได้ คำนวณเป็น คิดวิเคราะห์อย่างง่าย เป็นเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนที่ยังไม่มีความพร้อม ส่วนคะแนนขั้นสูงจะเป็นเกณฑ์สำหรับโรงเรียนที่มีความพร้อม โรงเรียนวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะทำให้การทดสอบ O – NET มีไว้เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง 2) การทดสอบ O – NET ไม่ควรถูกนำไปใช้ในเชิงนโยบายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและเป็นตัวชี้วัดในการทำงานของสถานศึกษา แต่ควรนำไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพของนักเรียน กล่าวคือ ผลการทดสอบ O – NET มักถูกนำไปใช้เป็นตัวชี้วัดของสถานศึกษาและครูในการประเมินผลการปฏิบัติราชการ จึงทำให้เกิดการติว O – NET เพื่อให้นักเรียนได้คะแนน O – NET สูงทำให้การทดสอบ O – NET ไม่ได้สะท้อนถึงคุณภาพของผู้เรียนอย่างแท้จริง ดังนั้น หน่วยงานต้นสังกัดควรใช้ผลการทดสอบ O – NET ในเชิงการพัฒนาสถานศึกษามากกว่าการประเมินสถานศึกษา และ 3) ควรเพิ่มมาตรการหรือแรงจูงใจให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการทดสอบ O – NET อาทิ การกำหนดให้ผลทดสอบ O – NET เป็นส่วนหนึ่งของการสำเร็จการศึกษาในแต่ละช่วงชั้น การกำหนดให้ผลการทดสอบ O – NET เป็นส่วนหนึ่งการเข้าศึกษาต่อในระดับการศึกษาต่าง ๆ โดยเริ่มต้นจากโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงก่อน และส่งเสริมให้สถานศึกษาใช้ประโยชน์จากผลการทดสอบ O – NET วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของนักเรียนและนำไปสู่การพัฒนาแผนการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับศักยภาพของผู้เรียน และสุดท้ายนี้ สกศ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอเชิงนโยบายของ สกศ. ในทุกประเด็นจะเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม”เลขาธิการ สกศ.กล่าว