เมื่อเวลา 9.00 น.วันที่ 31 พฤษภาคม ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สมาพันธ์บุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38ค(2) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  รวมตัวแต่งชุดดำ ขอเข้าพบพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพื่อขอให้ช่วยแก้ปัญหา เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีระบบวิทยฐานะเหมือนกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นๆ แม้จะอยู่ใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเดียวกัน แต่ได้กำหนดให้ 38 ค (2) ไปใช้ระเบียบคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)โดยอนุโลม ซึ่ง ก.พ.ไม่ได้กำหนดตำแหน่งและระดับขั้นต่างๆ ไว้ให้ด้วย พร้อมกับให้ใช้กรอบอัตรากำลังคนแทน จึงเกิดความลักลั่นขึ้น เพราะเมื่อใช้ พ.ร.บ.เดียวกัน ควรใช้ระบบเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน เช่น ศึกษานิเทศก์ มีวิทยฐานะ สามารถเติบโตได้ด้วยผลงาน แต่เมื่อเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 38 ค (2) กลับถูกล็อกด้วยกรอบอัตรากำลัง โดยมีนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) รับเรื่องแทน

นายธิติวุฒิ มังคลาด ประธานชมรมบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค (2) กล่าวว่า ที่มาวันนี้เพราะอัดอั้นตันใจ และขอคัดค้านแนวทางการกำหนดกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามาตรา 38 ค (2) ในเขตพื้นที่ฯ ทั้ง 245 เขต ซึ่งถูกตัดโอกาสความเติบโตในหน้าที่การงาน ถูกลิดรอนสิทธิ โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และ สพฐ.ได้จัดทำประชาพิจารณ์ ให้กลุ่ม38ค (2) โดยอ้างว่า จะดำเนินการจัดทำกรอบอัตรากำลัง และจัดทำโครงสร้างกรอบอัตรากำลังแบบมีเงื่อนไข กำหนดให้ระดับกลุ่ม38ค(2) ทุกเขตพื้นที่ฯ กำหนดตำแหน่งที่ไม่สามารถจะมีความก้าวหน้าในอาชีพเท่านั้น ทำให้ขาดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งที่ภาระงานที่รับผิดชอบ มุ่งส่งเสริมสนับสนุนให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ในนามของกลุ่ม 38 ค (2) จึงเกิดคำถามต่าง ๆ มากมาย ว่า เหตุใด สพฐ.จึงต้องจัดทำแบบประชาพิจารณ์ดังกล่าว และขอคัดค้านแบบประชาพิจารณ์ และไม่มีความไว้วางใจ กับพฤติการณ์และการกระทำของสำนักงาน ก.ค.ศ. และสพฐ.


นายธิติวุฒิ กล่าวว่า พร้อมกันนี้มีข้อเรียกร้อง 1.ให้สพฐ.และสำนักงานก.ค.ศ. ดำเนินการกำหนดโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังให้เป็นไปตามประกาศ ศธ. เรื่อง การแบ่งส่วนราชการภายในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้เสร็จโดยเร็ว ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ 2.ให้สำนักงานก.ค.ศ.และสพฐ. ยังคงมีกรอบอัตรากำลังของนิติกรไว้ที่ 2 ตำแหน่งเช่นเดิม คือผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมายและคดี นิติกรระดับชำนาญการพิเศษ และนิติกรปฏิบัติการ/ชำนาญการ เช่นเดียวกับหน่วยตรวจสอบภายใน ขึ้นตรงกับสพฐ. ส่วนกลาง พิจารณากรอบอัตรากำลัง โดยนำปริมาณงานตามคู่มือปฏิบัติงานของกลุ่มทั้ง 10 กลุ่ม ที่ดำเนินการโดยกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร(ก.พ.ร.) สพฐ. มาประกอบการคำนวณกรอบอัตรากำลังให้ชัดเจน 3. กรอบอัตรากำลังต้องวิเคราะห์ภารกิจ/ชั่วโมงงาน เพื่อกำหนดจำนวนและระดับตำแหน่งตามมาตรฐานตำแหน่ง และ4. กรอบอัตรากำลังที่ประชาพิจารณ์ ที่ตัดตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการ กลุ่มอำนวยการ กลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา กลุ่มนโยบายและแผน กลุ่มบริหารงานบุคคล เป็นการกำหนดอัตรากำลังที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม และไม่สามารถยอมรับได้ ทั้งนี้ กรณีมีปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับข้อกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ให้สพฐ. และสำนักงานก.ค.ศ. ประสานความร่วมมือ แก้ไขข้อกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยให้คงอำนาจหน้าที่ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากร 38ค(2)


นายธิติวุฒิ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ขอให้แก้กฎ ก.ค.ศ. ปี 2560 ดังต่อไปนี้ ผู้อำนวยการกลุ่ม/ผู้อำนวยการหน่วย เป็นประเภทอำนวยการกำหนดเงินวิชาชีพ (เงินประจำตำแหน่ง) ระดับชำนาญการ 3,500 บาท ระดับชำนาญการพิเศษ 5,600 บาท ระดับเชี่ยวชาญ 9,900 บาท พร้อมแก้กฎหมายให้บุคลากรทางการศึกษา มีศักดิ์และสิทธิที่เสมอกัน ภายใต้ระบบบริหารงาน บุคคล และระบบค่าตอบแทนเดียวกัน โดยกำหนดให้บุคลากรทางการศึกษา 38ค(2) เป็นวิชาชีพควบคุมของคุรุสภา มีเงินประจำตำแหน่ง หรือเงินวิชาชีพ แก้กฎหมาย มาตรา 38ข แก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ให้ตัดข้อความ ” การดำรงตำแหน่ง และการให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของตำแหน่ง บุคลากรทางการศึกษาตาม ค. (2) ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.ค.ศ. โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดตำแหน่ง และการให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญมาใช้บังคับโดยอนุโลม”

“ที่ผ่านมากลุ่ม38ค.(2) มีการเรียกร้องขอความเป็นธรรมมาโดยตลอด ตั้งแต่พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 จนถึงร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….ฉบับใหม่ ที่กำลังจะเข้าสภาฯ ขอเรียกร้องไปยังคณะกรรมาธิการการศึกษา (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร ขอให้ความเป็นธรรม กำหนดให้ มีเฉพาะคำว่า บุคลากรทางการศึกษาเท่านั้น โดยไม่ต้องมีคำอื่น ทั้งอื่น 38 ค (2) อื่น 38 ค (1) และไม่ต้องมีการไปอ้างอิง โดยอนุโลมจากหน่วยงานใด เพราะเราเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นวิชาชีพเดียวกัน ได้รับสิทธิประโยชน์ใกล้เคียงหรือเท่าเทียมกัน ” นายธิติวุฒิ กล่าวว่า

นายสิริพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีหลายกลุ่มเข้ามาพูดคุยและยื่นหนังสือกับตน ซึ่งแต่ละครั้งที่มาเรียกร้อง ก็ไม่ได้สูญเปล่า ไม่ได้เงียบ และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเรียกร้องต่าง ๆ ไปทบทวน แต่ไม่ใช่ว่าเรียดร้องแล้วจะได้เลย เพราะบางเรื่องที่เรียกร้องมา ก็ขัดกับกฎ ขัดกับระเบียบ ทั้งนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการศธ. ให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการศึกษาทุกกลุ่ม โดยมอบนโยบายให้ ก.ค.ศ. ไปดูเส้นทางการเติบโต อยากจะบอกว่าการที่มาเรียกร้อง ไม่ได้สูญเปล่า ไม่ได้เงียบ แต่อยากให้ทุกคนมาอย่างกัลยานมิตร เพราะวันนี้ฝ่ายการเมืองพยายามเข้ามาช่วย ตนเองได้รับมอบหมายให้ติดตามเรื่องนี้แต่แรก ยอมรับว่าวันนี้ตนไม่สบายใจ เพราะไม่อยากให้ ศธ. มีภาพแบบนี้ ดังนั้นวันนี้ขอมารับหนังสือแทน เพื่อไปดำเนินการติดต่อไป

“ผมเข้าใจว่า ว่ากลุ่มที่มาเรียกร้องวันนี้มีข้อกังวลเรื่องความก้าวหน้า ซึ่งทาง ศธ.ก็พร้อมรับฟัง และจะไปดูในระเบียบกฎหมายว่า สามารถทำได้หรือไม่อย่างไร รวมถึงจะต้องไปเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานก.พ. กระทรวงการคลัง เป็นต้น แต่จะพยายามทำให้ดีที่สุด โดยทางกลุ่มอยากจะมีส่วนเข้ามาเป็นกรรมการยกร่างด้วย ดังนั้นจะไปดูความเหมาะสมลงตัวและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป”นายสิริพงษ์ กล่าว


นายสุรินทร์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกลุ่ม 38ค(2) มีบุคลากรทั้งหมด ประมาณ 14,000 อัตรา โดยที่ผ่านมา สพฐ. ได้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ กรอบอัตรากำลัง โดยแบ่งเป็น 2 แนวทาง คือ ยึดตามกรอบอัตรากำลังเดิม และแนวที่ 2 คือ ยุบอัตราบางตำแหน่งลง ทั้งนี้ในส่วนของสพฐ. จะไปดูในรายละเอียดเพราะไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ทันที เนื่องจากต้องปฏิบัติตามกรอบต่าง ๆ ที่สำนักงานก.ค.ศ.กำหนด

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments