วันที่ 19 พฤษภาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศึกษาธิการ)เป็นประธานการประชุมสัมมนาวางแผนการพัฒนาคุณภาพวิชาการในโรงเรียนมัธยมศึกษาในเครือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย 11 แห่ง ณ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักบริหารมัธยมศึกษา สพฐ. คณะผู้บริหาร ครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนมัธยมศึกษาในเครือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย 11 โรงทั่วประเทศ เข้าร่วม
โดย พลตำรวจเอกเพิ่มพูน เน้นย้ำว่า การประชุมสัมมนาในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ในการกำหนดนโยบายด้านการศึกษาให้ลงถึงผู้เรียน โดยใช้โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นต้นแบบนำร่อง ขยายผลไปยังโรงเรียนมัธยมศึกษาอื่นๆ ทั่วประเทศ ขณะที่ผู้บริหารสถานศึกษาในเครือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยทั้ง 11 แห่ง สามารถนำไปขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพงานวิชาการของสถานศึกษา เพื่อเชื่อมโยงไปสู่ผู้เรียนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมถึงได้ร่วมกันวางแนวทางกำหนดยุทธศาสตร์ของสถานศึกษาในเครือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยทั้ง 11 แห่ง ให้มีแนวทางการขับเคลื่อนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันในปีต่อๆ ไป
ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวว่า รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายยกระดับและพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา โดยมีแนวทางพัฒนาโรงเรียนชั้นนำของประเทศให้สามารถเป็นต้นแบบในการบริหารงานวิชาการแก่โรงเรียนมัธยมศึกษาอื่นๆ ในเครือข่ายได้ ซึ่งมีการบริหารจัดการคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน โดยใช้มาตรฐานคุณภาพเดียวกัน มีนโยบายและกระบวนการทำงานที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ครู ผู้เรียน และผู้ปกครองได้ร่วมกันพัฒนาความรู้และนวัตกรรมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ รวมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพผู้เรียน ทั้งนี้ สพฐ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพวิชาการของโรงเรียนมัธยมศึกษา จึงได้มีนโยบายเพื่อส่งเสริม สนับสนุนสถานศึกษาในการขับเคลื่อนการดำเนินการ พัฒนาและยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพงานวิชาการของโรงเรียนมัธยมศึกษาตลอดมา ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยองค์ประกอบในหลายด้าน และมีแนวทางในการดำเนินการที่เป็นมาตรฐานในทิศทางเดียวกัน รวมไปถึงเครือข่ายโรงเรียนที่เข้มแข็ง เพื่อยกระดับการศึกษาตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ได้อย่างแท้จริง