เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย
นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพ(กพฐ.)และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ครั้งที่ 3/2567 ระหว่างวันที่ 13-14 พฤษภาคม 2567 ณ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม โดยในช่วงเช้าได้มีการประชุมร่วมกับผู้บริหารการศึกษาจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ในรูปแบบออนไลน์และออนไซท์ ณ วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี โดยก่อนการประชุมได้มีการเยี่ยมชมนิทรรศการการจัดการเรียนการสอนของอาชีวศึกษา ในสังกัดสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดเพชรบุรี จากนั้นนายสุรศักดิ์ได้มอบนโยบายส่วนราชการทางการศึกษาติดตามข้อมูลการจัดการศึกษาในระดับพื้นที่ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ทั้งนี้ นายสุรศักดิ์ กล่าวถึงแนวคิดในการอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวโรงเรียนขนาดเล็กว่า เนื่องจากผลวิจัยของหลายหน่วยงานสอดรับกันว่า การอุดหนุนรายหัวในปัจจุบันอาจยังไม่สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กได้ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงเงินอุดหนุนรายหัวน่าจะช่วยแก้ปัญหาเลยขนาดเล็กได้โดยการอุดหนุนเงินก้อนให้กับโรงเรียนขนาดเล็กไปก่อนเป็นเบื้องต้นแล้วค่อยอุดหนุนเงินรายหัวตามไปเพื่อให้ โรงเรียนมีเงินเพียงพอที่จะเป็นค่าใช้จ่าย ค่าสาธารณูปโภค แต่สำหรับโรงเรียนขนาดใหญ่อาจไม่จำเป็นต้องได้เงินก้อนนี้เพราะโรงเรียนขนาดใหญ่มีตัวคูณมากทำให้สามารถบริหารจัดการได้และมีเงินเหลือเพียงพอที่จะสามารถทำอย่างอื่นได้ด้วย เพราะฉะนั้นการให้เงินสนับเบื้องต้นโรงเรียนขนาดเล็กไปก่อนแล้วค่อยจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวตามไปจะทำให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการจะประสานหารือกับสำนักงบประมาณก่อนหากคุยสำเร็จก็จะนำเสนอครม.เพื่อพิจารณาต่อไป
จากนั้นได้คณะ รมช.ศึกษาธิการ ได้ตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” และรับฟังการสะท้อนปัญหาลิง ทำลายทรัพย์สินของโรงเรียน และการอยู่ร่วมกับลิง ที่โรงเรียนพรหมานุสรณ์ ต.คลองกระแชง อ.เมือง จ.เพชรบุรี และโรงเรียนวัดกุฏิ(นันทวิเทศประชาสรรค์) ต.ท่าแร้ง อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี โดย นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาลิงเข้ามางัดหลังคาทำลายทรัพย์สินของโรงเรียน เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน จากรายงานพบว่าขณะนี้เป็นปัญหาในหลายจังหวัดแล้ว เช่น ลพบุรี กระบี่ เพชรบุรี และ ปัญหาก็มีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงหลังโควิดมาซึ่งอาจจะเป็นอันตรายกับนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาได้ อย่างไรก็ตามวิธีการแก้ไขจริงๆแล้วต้องประสานกับหลายหน่วยงาน แต่บางเรื่องกระทรวงศึกษาธิการก็ไม่มีอำนาจที่จะทำได้ ดังนั้นสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการสามารถทำเองได้คือจะต้องหางบประมาณมาซ่อมแซมหลังคาและอาคารที่เสียหายจากการทำลายของลิงเพื่อให้สามารถใช้งานได้ก่อน
“สำหรับหลังคาที่เสียหาย เดิมจะเป็นหลังคากระเบื้อง ทางวิศวกรของสพฐ.ที่ลงไปตรวจสอบในพื้นที่ได้แนะนำให้เปลี่ยนเป็นหลังคาเมทัลชีท ซึ่งเป็นแผ่นเหล็กขนาดใหญ่ ไม่มีรอยต่อ งัดแงะได้ยากและมีความคม นอกจากนี้ จะมีการติดตะแกรงป้องกันไม่ให้ลิงเข้าไปในอาคารเรียน โดยจะได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ที่จะส่งนักเรียนนักศึกษาจากหน่วย Fix it Center มาช่วยกันติดตั้ง ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่ไปสำรวจความเสียหายแล้วรายงานเข้ามาเพื่อจะได้จัดสรรงบฯลงไป” นายสุรศักดิ์กล่าว
ด้าน ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมโรงเรียนวัดเขาทะโมน ต.ทำเสน อ.บ้านสาด จ.เพชรบุรี และ โรงเรียนดอนยางวิทยา ต.ตอนยาง อ.เมือง จ.เพชรบุรี ว่า นายสุรศักดิ์ได้สั่งการให้ สพฐ.สำรวจพื้นที่อื่นๆที่ประสบภัยจากลิงในลักษณะเดียวกันนี้ด้วย ตนจึงได้มอบหมายให้ ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. รวบรวมความเสียหายที่โรงเรียนหรือพื้นที่รายงานขึ้นมาทั้งหมดเพื่อจัดสรรงบฯซ่อมแซมอาคารและหลังคาที่ถูกลิงทำลายให้สามารถกลับมาใช้งานได้ จัดการเรียนการสอนได้ โดยเบื้องต้นเท่าที่ประมาณการคิดว่าใช้งบฯไม่มาก ซึ่งสพฐ.จะใช้งบฯเหลือจ่ายในการดูแลส่วนนี้ โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด