วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายให้ปฏิรูปวิชาชีพศึกษานิเทศก์เพื่อให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับการจัดการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไปมากและได้มอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ซึ่งที่ประชุม ก.ค.ศ. ได้มีมติเห็นชอบ แนวทางการบริหารงานบุคคลฯ ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ตามที่สำนักงาน ก.ค.ศ. ยกร่าง ไปเมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมาว่า “ศึกษานิเทศก์ (ศน.) ถือเป็นบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา เป็นผู้ที่จะคอยให้คำแนะนำ ชี้แนะแนวทางในการบริหารจัดการการเรียนการสอนให้กับครูและผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งหน่วยงานการศึกษาแต่ละแห่งควรมีอัตรากำลัง ศน. ที่มีความเหมาะสม เพื่อให้การนิเทศการศึกษาเกิดประโยชน์สูงสุด แต่ปัจจุบันเราพบปัญหาว่าครูไม่สนใจสมัครเข้ามาเป็น ศน. เท่าที่ควร ถ้าดูจากสถิติจำนวนผู้สมัครสอบ 2 ปีล่าสุด จะพบว่ามีตำแหน่งว่างแต่ละปีกว่า 1,600 ตำแหน่ง แต่มีผู้สมัครเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนตำแหน่งที่ว่างเท่านั้น โดยก่อนหน้านี้ สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์สภาพปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น พบว่าโจทย์สำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข คือ ศน. มีความรู้ความสามารถและศักยภาพลดลง เนื่องจากไม่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ขาดความน่าเชื่อถือ เส้นทางความก้าวหน้าในวิชาชีพ (Career Path) ไม่ดึงดูดให้เข้าสู่ตำแหน่ง รวมถึงโครงสร้าง สังกัด อัตรากำลังไม่ชัดเจน
“แนวทางที่จะเพิ่มจำนวน ศน. ที่มีความรู้ ความสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาขณะนี้ คือ การปฏิรูปตำแหน่ง ศน.จะต้องรื้อทั้งระบบ ทั้งมาตรฐานตำแหน่งฯ เกณฑ์การคัดเลือก การพัฒนาก่อนแต่งตั้งและการปรับโครงสร้าง ที่สำคัญคือ จะปรับบทบาทของ ศน. ใหม่ จากผู้ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา (Supervisor) มาเป็นผู้นำทางวิชาการ มีอำนาจในการรายงานผลการลงพื้นที่นิเทศฯ พร้อมให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารจัดการสถานศึกษาของผู้บริหารสถานศึกษาและการจัดการเรียนรู้ของครู ให้ผู้บังคับบัญชาเสนอ อ.ก.ค.ศ. ฯ หรือ ก.ค.ศ. ทราบ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง หรือเรียกว่าเป็น “Superintendent” นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่ไม่ได้เป็นครูในสังกัด ศธ. แต่เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีความชำนาญและเชี่ยวชาญการสอน ที่จบ ป.โท หรือ ป.เอก สามารถสมัครเข้ามาได้ และเมื่อคนกลุ่มนี้ผ่านการพัฒนาฯ ตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด ก็จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ศน. ชำนาญการ เลย และหลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ตำแหน่งและความก้าวหน้าในวิชาชีพ (Career Path) ตามระบบ เชื่อว่านี่จะเป็นวิธีเพิ่มช่องทางในการเข้าสู่ตำแหน่ง ศน. ให้ผู้ที่มีความสามารถสูง เข้ามาในระบบการศึกษาได้มากขึ้น”เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวและว่า ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ. อยู่ในระหว่างเร่งดำเนินการในรายละเอียดทั้งหมด และหวังว่าแนวทางการบริหารจัดการใหม่นี้ จะช่วยให้กระทรวงศึกษาธิการได้ ศน. ที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบการศึกษายุคใหม่ต้องมีความเป็นผู้นำทางวิชาการ มีสมรรถนะสูงในบทบาทใหม่ นำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการศึกษาต่อไป