เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.)เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “หลักสูตรเสริมทักษะครูอาชีวศึกษาด้านการแนะแนว และสร้างเป้าหมายชีวิตให้กับผู้เรียนอาชีวศึกษา” รุ่นที่ 1 ภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2567 ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี โดย นายยศพล กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ขับเคลื่อนนโยบายของ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) ภายใต้แนวคิดในการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต สู่การปฏิบัติผ่านนโยบายการพัฒนาอาชีวศึกษา 8 วาระงานพัฒนาอาชีวศึกษา (8 Agenda) โดยมีนโยบายที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ด้านระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต ซึ่งในวันนี้ สอศ. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “หลักสูตรเสริมทักษะครูอาชีวศึกษาด้านการแนะแนวและสร้างเป้าหมายชีวิตให้กับผู้เรียนอาชีวศึกษา” รุ่นที่ 1 ภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ครูอาชีวศึกษา ผู้ปฏิบัติหน้าที่ครูที่ปรึกษาและงานแนะแนว มีความรู้ความเข้าใจในการให้คำปรึกษา แนะแนวการเรียนอาชีวศึกษา
เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า สอศ. ขับเคลื่อนการดำเนินงานดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาครูอาชีวศึกษา ผู้ปฏิบัติหน้าที่ครูที่ปรึกษาและงานแนะแนวให้มีความรู้และทักษะด้านงานแนะแนว ทั้งในด้านการเรียน ด้านอาชีพ และด้านทักษะชีวิตให้กับผู้เรียนอาชีวศึกษา มีความรู้ความเข้าใจในการให้คำปรึกษา แนะแนวการเรียนอาชีวศึกษา และการสร้างเป้าหมายชีวิตของผู้เรียน ตามหลักจิตวิทยาแนะแนว และการให้คำปรึกษา ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นครูแนะแนวที่จบด้านจิตวิทยาโดยตรงก็ตาม ซึ่งหลักสูตรเสริมทักษะครูอาชีวศึกษาด้านการแนะแนว และสร้างเป้าหมายชีวิตให้กับผู้เรียนอาชีวศึกษานี้ ประกอบด้วย 5 โมดูล ได้แก่ โมดูลที่ 1 จิตวิทยาการแนะแนว โมดูลที่ 2 การดูแลผู้เรียนอาชีวศึกษา โมดูลที่ 3 แนะแนวด้านการเรียนอาชีวศึกษา โมดูลที่ 4 แนะแนวด้านอาชีพระหว่างเรียนและหลังสำเร็จการศึกษา และโมดูลที่ 5 แนะแนวด้านการดำเนินชีวิตและการอยู่ในสังคม ซึ่งทั้ง 5 โมดูล จะเชื่อมโยงกับผู้เรียนอาชีวศึกษาในทุกมิติ และจะเป็นการพัฒนาการเรียนการสอนอาชีวศึกษาให้เดินหน้าอย่างมีคุณภาพ ซึ่งคุณครูผู้ได้รับการอบรม จะได้เรียนรู้ รับฟัง ซักถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากคณะวิทยากรให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และมีส่วนร่วมในการอบรมเชิงปฏิบัติการอย่างเต็มที่ เป็นพลังเชิงสร้างสรรค์ เพื่อนำไปใช้ในการดูแลผู้เรียนอาชีวศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขยายผลสู่การจัดทำเป็นบทเรียนออนไลน์ ทั้งในการพัฒนาครูและผู้เรียนอาชีวศึกษาต่อไป