เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า การลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล และ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งปีการศึกษา 2567 นี้ เป็นปีที่ 2 ในการดำเนินการเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวสำหรับผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ซึ่งให้ปรับเพิ่มแบบขั้นบันไดต่อเนื่อง 4 ปีงบประมาณ ตั้งแต่ปีงบฯ 2566-2569 โดยในปีการศึกษา 2567 นี้ ได้มีการปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายหัวฯ ต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในรายการค่าจัดการเรียนการสอน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน รวมเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 8 ส่วนค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่าหนังสือเรียน อัตราคงเดิมตามปีงบประมาณ พ.ศ.2566 นอกจากนี้ยังมีเงินอุดหนุนรายหัวเพิ่มเติมสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก ค่าปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน ค่าอาหารนักเรียนประจำพักนอน และอื่นๆ อีก

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของค่าจัดการเรียนการสอน สำหรับนักเรียนทั่วไป มีการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวฯ จากปีการศึกษา 2566 ต่อคนต่อปี ดังนี้ ระดับอนุบาล ปี 2566 อุดหนุน 1,734 บาท ปี 2567 อุดหนุนเพิ่มเป็น 1,836 บาท ประถมศึกษา 1,938 บาท เพิ่มเป็น 2,052 บาท มัธยมศึกษาตอนต้น 3,570 บาท เพิ่มเป็น 3,780 บาท มัธยมศึกษาตอนปลาย 3,876 บาท เพิ่มเป็น 4,104 บาท ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 1-3 ที่จัดโดยสถานประกอบการ เดิม 11,970 บาท เพิ่มเป็น 12,674 บาท สำหรับค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ระดับอนุบาล เดิมอุดหนุน 438 บาท เพิ่มเป็น 464 บาท ประถมศึกษา เดิม 489 บาท เพิ่มเป็น 518 บาท มัธยมศึกษาตอนต้น เดิม 897 บาท เพิ่มเป็น 950 บาท มัธยมศึกษาตอนปลาย เดิม 969 บาท เพิ่มเป็น 1,026 บาท และระดับ ปวช. 1-3 ที่จัดโดยสถานประกอบการ เดิม 969 บาท เพิ่มเป็น 1,026 บาท เช่นเดียวกัน

ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวด้วยว่า ค่าอุปกรณ์การเรียนและค่าเครื่องแบบนักเรียน สถานศึกษาจะจ่ายเงินสดให้แก่นักเรียนหรือผู้ปกครอง ในอัตราต่อคนต่อปี ดังนี้ ค่าอุปกรณ์ ระดับอนุบาล 290 บาท ประถมศึกษา 440 บาท มัธยมศึกษาตอนต้น 520 บาท มัธยมศึกษาตอนปลาย 520 บาท และ ระดับ ปวช.1-3 ที่จัดโดยสถานประกอบการ 520 บาท ค่าเครื่องแบบนักเรียน ประกอบด้วย เสื้อ กางเกง กระโปรง ดังนี้ ระดับอนุบาล 325 บาท ประถมศึกษา 400 บาท มัธยมศึกษาตอนต้น 500 บาท มัธยมศึกษาตอนปลาย 550 บาท และระดับ ปวช.1-3 ที่จัดโดยสถานประกอบการ 950 บาท ทั้งนี้ ผู้ปกครองหรือนักเรียนสามารถถัวจ่ายระหว่างเครื่องแบบนักเรียนและอุปกรณ์ การเรียนได้ กรณีนักเรียนมีชุดนักเรียนเพียงพอแล้ว สามารถซื้อเข็มขัด รองเท้า ถุงเท้า ชุดลูกเสือ/เนตรนารี/ยุวกาชาด/ผู้บำเพ็ญประโยชน์ ชุดกีฬา ชุดฝึกงาน ชุดประจำท้องถิ่น และอุปกรณ์การเรียน ที่จำเป็นได้

“ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดทำหนังสือคู่มือแนวทางการดำเนินงาน ตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับ สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาในสังกัดทั่วประเทศ ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เกิดความคุ้มค่าประหยัดโปร่งใส เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนและทางราชการสูงสุด สนองตอบต่อนโยบายด้านการศึกษา ของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งส่งเสริมให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด ส่งเสริมการอ่าน เพื่อสร้างอนาคต สร้างรายได้ กระจายอำนาจการศึกษาให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง และที่สำคัญที่สุดรัฐบาล จะดำเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นรากฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งการเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนี้ช่วยลดภาระนักเรียน ผู้ปกครอง และเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการให้สถานศึกษาได้ “ เลขาธิการ กพฐ.กล่าว.

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments