วันที่ 23 เมษายน 2567 นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ในฐานะรองโฆษกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( สพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ชี้แจงทำความเข้าใจกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ออกหนังสือเรื่องกำชับนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย แจ้งถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทุกเขตนั้น เนื่องด้วยเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ สพฐ. ต้องการออกหนังสือเพื่อซักซ้อมความเข้าใจและแสวงหาวิธีการในการรับนักเรียนเพื่อให้เด็กทุกคนที่อาศัยในผืนแผ่นดินไทยได้มีสิทธิและโอกาสเข้าเรียนอย่างเสมอภาค ตามนโยบายของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และไม่ได้มีเจตนาริดรอนสิทธิหรือปิดกั้นโอกาสนักเรียนในการเข้าถึงการศึกษาแต่อย่างใด แต่ในทางกลับกันการออกหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นการซักซ้อมความเข้าใจถึงวิธีการที่ถูกต้องในการส่งเสริม สนับสนุน และเปิดโอกาสให้เด็กไทยทุกคนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือมีสัญชาติไทยได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
.
นางภัทริยาวรรณ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการรับนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย หรือเด็กต่างด้าวเข้าเรียน ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย สามารถสรุปได้ว่า เด็กที่อายุไม่เกิน 18 ปี ที่อยู่ในเขตอำนาจของรัฐไทย ต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน โดยห้ามเลือกปฏิบัติ เพราะเหตุเชื้อชาติ สีผิว ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น ต้นกำเนิดทางชาติ ชาติพันธุ์ หรือสังคม ทรัพย์สิน ความทุพพลภาพ การเกิดหรือสถานะอื่น ๆ ของเด็ก โดยเด็กนั้นต้องได้รับการรับรองสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งก็รวมไปถึงการได้รับสิทธิตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพตามแนวนโยบายของรัฐบาลด้านการศึกษาที่จัดให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาฟรี 15 ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
.
ดังนั้น การรับนักเรียนกรณีที่นักเรียนไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย โดยดำเนินการตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการรับนักเรียน นักศึกษา เข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. 2548 ข้อ 6 การรับนักเรียน นักศึกษา ในกรณีที่ไม่เคยเข้าเรียนในสถานศึกษามาก่อน ให้สถานศึกษาเรียกหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งตามลำดับ เพื่อนำมาลงหลักฐานทางการศึกษา ดังต่อไปนี้ 1) สูติบัตร 2) กรณีไม่มีหลักฐาน ให้เรียกหนังสือรับรองการเกิด บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาบัตรทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน หรือหลักฐานที่ทางราชการจัดทำขึ้นในลักษณะเดียวกัน 3) ในกรณีที่ไม่มีหลักฐานตาม ข้อ 1 และ 2 ให้เรียกหลักฐานที่ทางราชการออกให้ หรือเอกสารตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้ใช้ได้ เช่น ทะเบียนประวัติของผู้ติดตาม ท.ร. 1/1 หนังสือรับรองการเกิด เพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะ ทางทะเบียนราษฎร เป็นต้น 4) ในกรณีที่ไม่มีหลักฐานตาม ข้อ 1, 2 และ 3 ให้บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือองค์กรเอกชน ทำบันทึกแจ้งประวัติบุคคล เป็นหลักฐานที่จะนำมาลงหลักฐานทางการศึกษา และ 5) ในกรณีที่ไม่มีบุคคลหรือองค์กรเอกชนตามข้อ 4 ให้ซักถามประวัติบุคคลผู้มาสมัครเรียน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำลงรายงานบันทึกแจ้งประวัติบุคคล เป็นหลักฐานที่จะนำมาลงหลักฐานทางการศึกษาได้
.
“สพฐ. มีความห่วงใยเด็กและเยาวชนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างครบถ้วน จึงได้กำชับหน่วยงานในสังกัดให้ดำเนินการรับนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ให้เป็นไปตามระเบียบ/ประกาศ/แนวปฏิบัติของส่วนราชการ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เด็กทุกคนที่อาศัยในผืนแผ่นดินไทยได้มีสิทธิและโอกาสเข้าเรียนอย่างเสมอภาค ทั่วถึงและเท่าเทียม” รองโฆษก สพฐ. กล่าว
สพฐ. แจงแนวปฎิบัติรับนักเรียนที่ไม่มีทะเบียนราษฎร
Subscribe
0 Comments
Oldest