วันที่ 11 เมษายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( กพฐ.) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนที่ผ่านมา สถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินการรับนักเรียน ระดับชั้นอนุบาล ป.1 ม.1 และ ม.4 เรียบร้อยแล้ว และเพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาแก่เด็กทุกช่วงวัย ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย Thailand Zero Dropout เด็กและเยาวชนทุกคนไม่หลุดจากระบบการศึกษาของรัฐบาล สพฐ. จึงได้วางแผนดำเนินการเชิงรุก ค้นหาเด็กวัยเรียนที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา (เด็กตกหล่น) และเด็กที่เข้าสู่ระบบการศึกษาแต่ออกจากระบบกลางคัน ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ภายในเปิดภาคเรียนใหม่ พฤษภาคม 2567 นี้

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2567 สพฐ. ได้วางแผนการดำเนินงาน ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน ระยะ 2” โดยพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลเด็กวัยเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษาและเด็กยากจนพิเศษ สนับสนุนงบประมาณให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนเพื่อประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ลงพื้นที่ค้นหา ติดตามและช่วยเหลือเด็กตกหล่น/ออกกลางคัน อย่างเข้มข้น เพื่อช่วยเหลือและนำเด็กตกหล่น/ออกกลางคัน ให้กลับเข้าสู่ระบบและได้รับการศึกษา ก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2567

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวด้วยว่า หลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะยุคหลังโควิด-19 ปรากฏข้อมูล เด็กวัยเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษา รวมถึงนักเรียนที่เข้าสู่ระบบแล้วหลุดออกจากระบบการศึกษากลางคัน เป็นจำนวนมาก แต่ สพฐ. ไม่เคยนิ่งนอนใจ ได้พัฒนาฐานข้อมูลและลงพื้นที่ติดตาม ค้นหาเด็กวัยเรียนให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องขอขอบคุณภาคีภาคส่วนต่างๆ อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด นายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอ/เขต/ตำบล ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.หมู่บ้าน ที่เป็นกำลังสำคัญร่วมกับคณะครู และบุคลากรเขตพื้นที่ทั่วประเทศ ให้เด็กวัยเรียนเกือบ 30,000 คน ได้รับการติดตาม ค้นหา และพากลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งประโยชน์ไม่ได้เกิดขึ้นกับเด็ก 30,000 คนเท่านั้น แต่จะช่วยพลิกคุณภาพชีวิตของ 30,000 ครอบครัว และชุมชน สังคมของเด็กๆ เหล่านั้นด้วย

“พร้อมกันนี้ รมว.ศธ. ได้กำชับ สพฐ. และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่ง ให้ขับเคลื่อนโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน ระยะ 2” อย่างเอาจริงเอาจัง จึงขอประชาสัมพันธ์ถึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้ความเชื่อมั่นว่า การศึกษาจะเป็นกุญแจสำคัญสู่การสร้างความมั่นคงในชีวิต และ สพฐ. ไม่เพียงติดตามค้นหาพาเด็กให้กลับสู่โรงเรียน แต่มีการดูแลช่วยเหลือ สนับสนุนค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน ค่าหนังสือเรียนให้กับนักเรียนทุกคน รวมทั้งค่าปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน และค่าอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาขยายโอกาส พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ (learn to earn) ให้โรงเรียนสร้างการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ไม่มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาและออกกลางคัน (zero drop out)” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments