เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( กพฐ.) เปิดเผยว่า ด้วยขณะนี้เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันปีใหม่ไทย ซึ่งเมื่อปลายปี 2566 ประเพณี “สงกรานต์ในประเทศไทย” ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กอปรกับทางรัฐบาล มีนโยบายสำคัญเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษกิจของประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ นำโดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนากำลังคนเพื่อสอดรับกับการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว โดยที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดการเรียนการสอนให้ความรู้เกี่ยวกับ “ประเพณีสงกรานต์” วันปีใหม่ไทย วันผู้สูงอายุ และวันครอบครัว ซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งเสริมให้เด็กๆ และเยาวชนได้ร่วมสืบสานต่อยอดมรดกภูมิปัญญาประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย ช่วยกันรักษาบรรยากาศที่ดีงามนี้ไว้ และถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยว เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและชุมชนอีกทางหนึ่ง
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวต่อไปว่า สงกรานต์เป็นประเพณีในวันปีใหม่ไทย เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ความอบอุ่น ความสนุกสนาน เด็กๆ ต่างรอคอยการเล่นน้ำสงกรานต์ ซึ่งตลอดเดือนเมษายนปี 2567 นี้ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ มีการจัดงานประเพณี จัดกิจกรรมการแสดง ขบวนแห่กลางแจ้ง เฉลิมฉลองเปิดให้เล่นน้ำ ทั้งบนถนน ตรอก ซอยในชุมชนบางแห่งก็จัดเล่นน้ำกันเองอย่างคึกคัก ซึ่ง รมว.ศธ. และ สพฐ. มีความห่วงใยความปลอดภัยของนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งทางด้านสุขภาพและทางร่างกาย จึงขอให้ระมัดระวังในเรื่องอากาศที่ร้อนมาก เพราะหากอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก ที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นควรป้องกันตนเอง โดยสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี ขณะเดียวกันขอให้ผู้ปกครองดูแลนักเรียนเล่นน้ำกันอย่างปลอดภัย ไม่วิ่งดักหน้ารถเพื่อไปสาดน้ำ ไม่แต่งกายล่อแหลม ใช้น้ำสะอาดในการเล่น ไม่สาดน้ำใส่หน้าผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ ไม่ดื่มของมึนเมาและไปขับขี่ยวดยานพาหนะ ทั้งนี้ ควรดูแลบุตรหลานที่เป็นเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด ไม่ให้เล่นน้ำติดต่อกันเกิน 1 ชั่วโมง และในช่วงที่อากาศร้อนจัดนี้ไม่ควรผสมน้ำแข็งลงไปในน้ำที่ใช้เล่น เพราะอุณหภูมิที่ต่างกันเกินไปของน้ำกับแสงแดด อาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะช็อกได้
“ผมได้มอบหมายให้ ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. ประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายต่างๆ เฝ้าระวังความประพฤตินักเรียนภายนอกสถานศึกษาในภาวะเสี่ยง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงทีในทุกกรณี อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ในช่วงปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 ซึ่งก่อนปิดภาคเรียน สพฐ. ได้มีหนังสือด่วนที่สุดเรื่อง “กำชับมาตรการการเตรียมความพร้อมช่วงปิดภาคเรียน” และเรื่อง “มาตรการกำกับติดตามและรายงานเหตุความไม่ปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพฐ.” แจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ให้เตรียมการรักษาความปลอดภัย และวางแผนรับมือสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา และทรัพย์สินของทางราชการในทุกด้านแล้ว ซึ่งหากประสบเหตุความไม่ปลอดภัยขึ้น ขอให้สถานศึกษาดำเนินการตามมาตรการกำกับ ติดตามและรายงานเหตุ ตามแนวทางปฏิบัติที่ สพฐ. ได้แจ้งไปอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว