เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567  พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ  เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ว่า ได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น หรืองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 618,795,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างเหมาบริการนักการภารโรง จำนวน 13,751 อัตรา ระยะเวลา 5 (เดือนพฤษภาคม – กันยายน 2567) ตามที่ ศธ.เสนอ เพื่อให้มีนักการภารโรงครบทุกโรงเรียน ในส่วนของปี 2568 ครม.ได้อนุมัติงบประมาณปี 2568 จำนวน 25,370 อัตรา รวมเป็นเงินกว่า 2,739,960,000 บาท ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)จะจัดทำแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจ้างภารโรง  13,751 อัตรา นั้น จะต้องทำสัญญาจ้างภายในวันที่ 30 เมษายน 2567 มีผลวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 อัตราค่าจ้างรายละ 9,000 บาทต่อเดือน โดยในส่วนนี้ได้มีการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครไว้ชัดเจน เช่น ต้องอายุ 18 ปีขึ้นไป มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีความยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และถ้าผ่านการเกณฑ์ทหารจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ เพราะต้องยอมรับว่าหน้าที่หนึ่งคือการรักษาความปลอดภัย ดังนั้นถ้าผ่านการเกณฑ์ทหาร หรือเรียนหลักสูตรการรักษาสดินแดน หรือ รด. มาแล้ว ก็น่าจะมีความเหมาะสม นอกจากนั้นยังต้องมีคุณสมบัติในการเป็นช่างซ่อมต่าง ๆ เป็นต้น เพราะภารโรงเปรียบเป็นแก้วสารพัดนึกที่จะมาช่วยลดภาระงานครู ดูแลโรงเรียน และนักเรียน โดยหลังจากนี้ทาง สพฐ.จะได้แจ้งบัญชีจัดสรรนักการภารโรงไปยังเขตพื้นที่การศึกษา ก่อนจัดสรรต่อไปให้โรงเรียน อย่างไรก็ตาม การทำงานจะมีการประเมินผลการทำงานทุกสิ้นเดือน หากไม่ผ่านการทำงานก็จะต้องเปลี่ยนคน หรือพิจารณาว่าจะมีการจ้างต่อในปี2568 หรือไม่

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า ส่วนการรายงานถึงการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษา PISA นั้น สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้รายงานหลักสูตรการวัดผลประเมินผลตามแนวทาง PISA เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจและสามารถนำแนวทาง PISA มาปรับใช้ในชั้นเรียน ซึ่งเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์แบบสะสมชั่วโมงเรียนจนครบ 7 บทเรียน มีครูและบุคลากรทางการศึกษาลงทะเบียน 6,562 ราย เข้ารับการอบรมแล้ว 1,573 ราย เรียนสำเร็จแล้ว 39% (607 ราย) และกำลังเรียน 966 ราย เช่นเดียวกับ สพฐ.ที่ได้รายงานว่า สพฐ. ได้มีแนวคิดในการจัดระบบพี่เลี้ยงโรงเรียนพี่ โรงเรียนน้อง โดยมีการพัฒนาชุดกิจกรรมพัฒนาสมรรถนะความรู้ จัดการเรียนรู้ในห้องเรียน เพิ่มเติมคลังแบบทดสอบตามแนวทางการประเมิน PISA พร้อมพัฒนาแนวทางการวัดผลในรูปแบบ Computer Based ซึ่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการเตรียมตัวให้ศึกษานิเทศก์ในการเตรียมความพร้อมเรื่อง PISA พร้อมกันนี้ มีนักเรียนเป้าหมายที่เข้าระบบ PISA Style Online Testing ทดลองใช้เครื่องมือในการพัฒนา กว่า 56,973 คน โดย ในอนาคต สพฐ. ได้วางแผนการฝึกอบรมวิทยากรแกนนำและการเตรียมความพร้อมการเป็นพี่เลี้ยงของเขตพื้นที่รูปแบบออนไลน์ รวมถึงเขตพื้นที่มัธยมศึกษา และประถมศึกษา ต่อไป

“นอกจากนี้ สพฐ. ยังได้รายงานผลการสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในโรงเรียน และการดำเนินการพัฒนา ของนักเรียนชั้น ป.4-6 และ ม.1- 6 สังกัด สพฐ. จำนวนรวม 511,711 คน โดยนักเรียนต้องการให้โรงเรียนพัฒนาปรับปรุงในเรื่องต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนอย่างมีความสุขและความปลอดภัยในโรงเรียน อาทิ การเข้าแถวหน้าเสาธง ควรสร้างความรู้สึกต้องการมีส่วนร่วมด้วยความเต็มใจและยืดหยุ่นตามสถานการณ์ ค่ายธรรมะ ควรเป็นไปตามความสมัครใจและพัฒนาครูโค้ชคุณธรรม การเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ควรมีแหล่งเรียนรู้ที่ไหน เมื่อไรก็ได้ สามารถทบทวนได้ตลอดเวลา ส่วนในเรื่องห้องน้ำโรงเรียน ต้องการให้มีการปรับปรุงให้พร้อมใช้งาน จึงได้มอบให้ สพฐ.พิจารณาดำเนินการสำรวจข้อมูลความพึงพอใจ พร้อมจัดลำดับสถานะในการดำเนินการปรับปรุงในช่วงปิดภาคเรียน เช่น สีแดง สีเหลือง สีเขียว เพื่อให้มีห้องน้ำที่เพียงพอและพร้อมใช้งาน โดยให้มีการรายงานถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพก่อนเปิดภาคเรียน” รมว.ศึกษาธิการกล่าวและว่า ส่วนของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) มีความก้าวหน้าการเคลื่อนการศึกษาระบบทวิภาคี โดยได้ปฐมนิเทศนักศึกษา ทวิภาคี 960 คน เข้าร่วมฝึกอาชีพกับบริษัทไมเนอร์ การอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรูเกี่ยวกับการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี แก่ผู้บริหาร ครู และบุคลากร จากสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดทั่วประเทศ 157 คน และล่าสุด ได้ลงนามความร่วมมือระหว่าง สอศ. กับภาคเอกชน ดึงบริษัทชั้นนําด้าน อุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้ง 3 แห่งของประเทศ คือ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จํากัด, บริษัท ไทยฮอนด้า จํากัด, บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด เพื่อสนับสนุน และส่งเสริมการจัดการอาชีวศึกษาระบบปกติและระบบทวิภาคีเพื่อผลิตและพัฒนากําลังคนอาชีวศึกษา สมรรถนะสูง ให้มีความพร้อมเมื่อจบการศึกษา มีทักษะฝีมือตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments