นายกิติศักดิ์ ไทวะกิรติ ผู้อำนวยการโรงเรียนพลับพลาชัยพิทยาคม เปิดเผยว่า โรงเรียนพลับพลาชัยพิทยาคม เป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาบุรีรัมย์ เปิดทำการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 โดยระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จัดห้องเรียนปกติ จัดการเรียนการสอนที่มุ่งพัฒนานักเรียนให้มีความสามารถทางด้านวิชาการ ส่งเสริมทักษะชีวิต สามารถประยุกต์ใช้ในการศึกษาต่อประกอบอาชีพ ตามความถนัดและความสนใจ ส่วนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีแผนการเรียน 4 แผน และหนึ่งในนั้นคือแผนการเรียนวิทยาศาสตร์-นวัตกรรมการจัดการเกษตร ที่มุ่งพัฒนานักเรียนให้มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และการใช้นวัตกรรมการจัดการเกษตรมาปรับใช้และต่อยอด ในการจุดประกายอาชีพด้านการเกษตรใหม่ๆ จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมปศุสัตว์อินทรีย์ (การเลี้ยงหมูป่า) ขึ้นโดยได้รับความอนุเคราะห์จากกำนันอนุสรณ์  กำนันตำบลจันดุม ที่เป็นประธานคณะกรรมการสถานศึกษาและคุณครูวันตนา ทวันเวช หัวหน้ากลุ่มสาระภาษาไทยที่ให้หมูป่ามาเลี้ยง

ซึ่งในแต่ละวันนักเรียนจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ฝึกวินัย ความรับผิดชอบ และฝึกทักษะการดูแลสัตว์เลี้ยง เก็บเกี่ยวความรู้การเลี้ยงและดูแลหมูป่าแบบธรรมชาติ ตามแนวทางของแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ( 3 ห่วง 2 เงื่อนไข และ 4 มิติ) สามารถนำไปประกอบอาชีพต่อไปในอนาคตได้ โดยทางโรงเรียนมีการจัดเวรให้ครูและนักเรียน ผลัดเปลี่ยนกันไปดูแลเป็นรายสัปดาห์พร้อมกับการจดรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ถึงพฤติกรรม การเจริญเติบโต การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ การผสมพันธุ์ การดูแลในช่วงปกติและขณะอุ้มท้องลูกหมู ไปจนถึงการดูแลและรักษาหากพบว่าหมูป่ามีการเจ็บป่วย ส่วนการให้อาหารจะเป็นอาหารตามธรรมชาติที่หาได้ในพื้นที่ เช่น กล้วย กระถิน ผักบุ้ง และอาหารอื่น ๆ ที่มี รวมถึงอาหารเหลือจากโรงเรียนอนุบาลสะเดา ซึ่งเป็นโรงเรียนประถมขยายโอกาสในพื้นที่บริการของโรงเรียนพลับพลาชัยพิทยาคม ที่ให้ความอนุเคราะห์อาหารเหลือมา ปัจจุบันหมูป่าที่เลี้ยงไว้คลอดลูกเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว ทำให้ตอนนี้มีลูกหมูรวม 7 ตัว แม่หมู 3 ตัว และพ่อหมูอีก 1 ตัว และหากมีมากพอที่จะจำหน่าย ก็จะมีการส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้ ตามแผนการเรียนศิลป์ – การจัดการธุรกิจการค้าสมัยใหม่ ที่มุ่งพัฒนานักเรียนให้มีทักษะความสามารถและความเชี่ยวชาญ ด้านการจัดการธุรกิจ  ร้านค้าปลีกค้าส่ง และร้านค้าแบบใหม่ ที่อาศัยการขายในระบบออนไลน์ รวมถึงการปรับตัวไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments