เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.)เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพกำลังคนอาชีวศึกษาและการสร้างโอกาสทางสังคม ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และบริษัท เอส.เอ็ม.ซี.(ประเทศไทย) จำกัด โดยมี ศ. ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มจพ. ดร.ปัญญาพล สุพรรณวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส.เอ็ม.ซี.(ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนาม พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากร สอศ. ร่วมเป็นสักขีพยานพยาน ณ บริษัท เอส.เอ็ม.ซี.(ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดปทุมธานี
นายยศพล กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และบริษัท เอส.เอ็ม.ซี.(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำด้านระบบอัตโนมัตินิวเมติกส์ ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ลมอัด (นิวเมติกส์) เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป อุตสาหกรรมด้านอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมที่ผลิตเครื่องจักร โดยได้เล็งเห็นความสำคัญการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะ สมรรถนะในการปฏิบัติงาน รวมถึงให้การสนับสนุนการพัฒนาการอาชีวศึกษาให้ทันสมัย ทันต่อเทคโนโลยี สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน โดยเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างโอกาสและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพทักษะวิชาชีพ จึงทำให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือของทั้งสามฝ่ายในครั้งนี้ตรงตามแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน ร่วมกันเดินไปข้างหน้าเพื่อพัฒนาประเทศ และทำให้การเรียนการสอนอาชีวศึกษาเป็นที่เชื่อมั่นและเป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบทั้งในและต่างประเทศต่อไป
เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า ความร่วมมือแบบไตรภาคีในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ให้มีทักษะวิชาชีพและทักษะชีวิต เป็นพลเมืองที่ดี รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนและฝึกอบรม โดยเฉพาะสื่อการเรียนการสอนที่ต้องทันสมัย และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี พัฒนาองค์ความรู้ ด้านวิจัย นวัตกรรมโครงงาน การพัฒนาครูและบุคลากร ให้มีทักษะความรู้ ความชำนาญด้านเทคโนโลยีและด้านเทคนิควิธีการสอน และสร้างโอกาสทางสังคมให้ผู้เรียนอาชีวศึกษาได้เข้ารับการพัฒนาทักษะวิชาชีพและทักษะชีวิตรวมถึงการเสริมสร้างประสบการณ์วิชาชีพจากการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการและการประกอบอาชีพจริง ตอบโจทย์นโยบาย เรียนดี มีความสุข มุ่งเน้นจัดการเรียนการสอนควบคู่กับการมีรายได้ และสร้างประสบการณ์นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา สามารถเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทักษะที่ใช้ในการทำงานและทักษะชีวิตในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ