วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 เพื่อจัดหาอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย (Anywhere Anytime) ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. จำนวน 29,312 โรงเรียน ในกรอบระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2572 เพื่อใช้ในกิจกรรม “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา” (Anywhere Anytime)ตามนโบายของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อลดภาระนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา นั้น สพฐ. พร้อมขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวลงสู่สถานศึกษาและผู้เรียนทั่วประเทศ เพื่อยกระดับการศึกษาไทยในภาพรวมทั้งระบบ โดยนโยบาย “การส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา” คือการใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ที่เท่าทันโลกแห่งความผันผวน (BANI World) ที่สามารถทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างรวดเร็ว สะดวก และเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยมีระบบที่ประกอบด้วยคุณลักษณะและฟังก์ชันที่ช่วยให้ผู้เรียนและครู สามารถสร้างสรรค์ผลงานการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความต้องการ ทั้งทักษะวิชาการ ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และจัดการเนื้อหาการเรียนรู้ได้อย่างง่ายดาย รวมถึงการติดตามและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างแม่นยำ มีคอนเทนต์สำหรับการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัล E-Book ไลฟ์สด เกมส์ วิดีโอ แบบทดสอบ สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างครบถ้วนและสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ตลอดช่วงชีวิต
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดำเนินงานโครงการ “การส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา” ระยะที่ 1 ได้เริ่มจัดทำตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นการนำร่องในระยะแรก โดยการพัฒนาระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อรองรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในศตวรรษที่ 21 เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสามารถรองรับโรงเรียนคุณภาพในสังกัด สพฐ. ได้จำนวน 1,808 โรงเรียน ส่วนระยะที่ 2 ภายในกรอบระยะเวลา 5 ปี ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2572 โดยจะมีการพัฒนาระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เช่น จัดหาซอฟต์แวร์สำเร็จรูปสำหรับการรักษาความปลอดภัยข้อมูล การเชื่อมโยงฐานข้อมูลและการบริหารจัดการระบบ การจัดทำดิจิทัลคอนเทนต์ การเช่าใช้ระบบคลาวด์สำหรับแพลตฟอร์มด้านการศึกษา รวมถึงสนับสนุนให้นักเรียนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยอย่างเท่าเทียมครอบคลุมทั้งในพื้นที่ห่างไกลหรือทุรกันดาร ด้วยการเช่าอุปกรณ์การเรียนการสอน เช่น Tablet, Notebook หรือ Chromebook จำนวน 607,655 เครื่อง พร้อมทั้งพัฒนา ส่งเสริม และขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะรองรับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ได้ถึงจำนวน 29,312 โรงเรียน ทั่วประเทศ
.
“สพฐ. พร้อมขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ด้วยการพัฒนาระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งถือเป็นการยกระดับการศึกษาของไทยครั้งใหญ่ ทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีเครื่องมือและระบบการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม ทันสมัย โดยปรับบทบาทจาก “ครูผู้สอน” เป็น “โค้ช” หรือ “ผู้อำนวยการการเรียนรู้” ที่ทำหน้าที่กระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจ แนะนำวิธีเรียนรู้และวิธีจัดระเบียบการสร้างความรู้ ออกแบบกิจกรรม และสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน ส่วนผู้เรียนก็ได้รับการเรียนการสอนที่เหมาะสมและสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ใหม่ได้อย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน ให้สามารถ “เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา” ผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลออนไลน์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ส่งผลให้ประเทศไทยเกิดสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ทำให้ผู้เรียนและครูยิ้มได้ “เรียนดี มีความสุข” ได้อย่างแท้จริง” ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าว