วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศึกษาธิการ)ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการโครงการโรงเรียนคุณภาพของสำนักงานการศึกษาประถมศึกษา(สพป.)ขอนแก่น เขต 5 โดยมีนายยงยุทธ พรหมแก้ว ผอ.สพป.ขอนแก่น เขต 5 พร้อมด้วยคณะผู้บริหารการศึกษา จังหวัดขอนแก่น ประกอบด้วย ศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดขอนแก่น ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)ขอนแก่น และผอ.สพป.ทุกเขตพื้นที่ในจังหวัดขอนแก่น รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายอำเภอชุมแพ ศึกษานิเทศก์ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ สพป.ขอนแก่น เขต 5 ให้การต้อนรับ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวระหว่าง รับชมวิดิทัศน์สรุปผลการดำเนินงานตามนโยบายและพบปะพูดคุยกับผู้ที่มาให้การต้อนรับพร้อมทั้งให้โอวาทแก่คณะผู้มาต้อนรับ ว่า ฝากขอให้ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ ให้หมั่นลงนิเทศโรงเรียน ยึดถือแนวปฏิบัติแบบเรียบง่าย ลดกระบวนการขั้นตอนที่ไม่จำเป็นและยึดหลักพอเพียงเพื่อให้โรงเรียนมีเวลาจัดการเรียนการสอนนักเรียนให้มากที่สุด จากนั้นเดินทางไปยังวัดป่าศรีบุรี ในเขตอำเภอชุมแพ เพื่อเป็นประธานทอดผ้าป่าและยกช่อฟ้า และเดินทางต่อไปยังโรงเรียนชุมชนโนนหันวันครู อ.ชุมแพ เพื่อตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการการศึกษาซึ่งมีผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด ตลอดจนข้าราชการครูโรงเรียนชุมชนโนนหันวันครูให้การต้อนรับ ทั้งนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้กล่าวและมอบนโยบาย ว่า กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายลดภาระครู ลดปัญหาหนี้สินครูโดยให้ต้นสังกัดหักหนี้สินได้ไม่เกินร้อยละ 70% การพัฒนาแพลตฟอร์มการย้ายด้วยการจับคู่โดยนำระบบ TMS มาใช้ การผลักดันงบประมาณเพื่อจ้างนักการภารโรงเพื่อลดภาระครู โดยนโยบายลดภาระครูกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้มีเจตนาจะให้ครูสบายขึ้น แต่อยากให้ครูได้มีเวลากับนักเรียนมากขึ้น การจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือจัดการเรียนการสอน โดยเบื้องต้นได้ให้โรงเรียนเตรียมข้อมูลพื้นฐานและแผนการพัฒนาโดยนำข้อมูลเข้าระบบ เพื่อนำข้อมูลไปวางแผนและร่วมมือกับภาคเอกชนในการร่วมกันหาแนวทางร่วมพัฒนาแยกเป็นพื้นที่ ในส่วนของนโยบายโรงเรียนคุณภาพนั้นในเบื้องต้นกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้แต่ละอำเภอมีโรงเรียนคุณภาพอย่างน้อยหนึ่งโรงเรียน ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและแบ่งปันให้กับโรงเรียนในเครือข่ายเช่น วัสดุอุปกรณ์ อาคารสถานที่ สระว่ายนำ้ แนวทางการบริหารจัดการ นวัตกรรมแนวทางการจัดการเรียนการสอนของครู ควรมีการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ (PLC)ในระดับ ผอ.โรงเรียน และครูผู้สอน ซึ่งหากได้ผลเป็นที่น่าพอใจจะขยายลงสู่ระดับตำบลให้มีจำนวนโรงเรียนคุณภาพมากขึ้น ทั้งนี้ได้กล่าวฝากทิ้งท้ายให้กับที่ประชุมว่า “วิสาสา ปรมา ญาติ ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่งในโลกนี้” อยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการศึกษาสร้างความคุ้นเคยกัน เพื่อจะได้ร่วมมือกันพัฒนาการศึกษาต่อไปดังสโลแกน จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน จากนั้นได้เดินเยี่ยมชมอาคารอนุบาลหลังใหม่ของโรงเรียนชุมชนโนนหันวันครู และร่วมปลูกต้นรวงผึ้งก่อนเดินทางกลับ