เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีระเบียบในการจัดซื้อหนังสือแบบเรียน แจกนักเรียนทุกคนในระดับชั้นของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ได้รับหนังสือเรียนใหม่ทุกกลุ่มสาระ เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้และจุดเริ่มต้นของการได้รับความรู้ ต่อยอดไปสู่ปัญญา รากฐานของการนำไปใช้ และบรรลุเป้าหมายตามหลักสูตรชาตินั้น ตามนโยบายของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เยาวชนไทยได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม การจัดสรรงบประมาณค่าหนังสือเรียน ใช้สำหรับเป็นค่าหนังสือเสริมประสบการณ์สำหรับนักเรียนระดับก่อนประถมศึกษา ค่าหนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ทุกระดับชั้น และแบบฝึกหัดรายวิชาพื้นฐาน ใน 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เฉพาะชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 เพื่อจัดสรรให้นักเรียนมีหนังสือใช้เรียนครบทุกคน โดยระดับก่อนประถมศึกษา เป็นหนังสือเสริมประสบการณ์ระดับชั้นอนุบาลที่สอดคล้องตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2560 ส่วนระดับประถมศึกษา เป็นหนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน รายวิชาพื้นฐาน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 และแบบฝึกหัดในรายวิชาพื้นฐาน 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางฯ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้มี เพื่อเสริมทักษะที่จำเป็นแก่นักเรียนเฉพาะระดับประถมศึกษาเท่านั้น ได้แก่ 1) ภาษาไทย 2) คณิตศาสตร์ และ 3) ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) และระดับมัธยมศึกษา เป็นหนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน รายวิชาพื้นฐาน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางฯ พ.ศ. 2551
.
สำหรับการพิจารณาคัดเลือกหนังสือเรียนและแบบฝึกหัด ให้พิจารณาจากความสอดคล้องของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยและหลักสูตรสถานศึกษา ปลูกฝังให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน ส่งเสริมกระบวนการคิด คุณธรรม จริยธรรม รักษ์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยให้ดำเนินการจัดซื้อเพื่อใช้สำหรับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2560 และสำหรับหนังสือเรียนและแบบฝึกหัดรายวิชาพื้นฐาน ตามหลักสูตรแกนกลางฯ พ.ศ. 2551 ให้ครูผู้สอนเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกหนังสือตามเหตุผลเชิงคุณค่าทางวิชาการ เสนอคณะกรรมการบริหารหลักสูตรและวิชาการ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการภาคี 4 ฝ่าย (ผู้แทนครู ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนชุมชน และผู้แทนนักเรียน) และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยพิจารณาคัดเลือกจากหนังสือที่มีเนื้อหาสาระยากง่ายเหมาะสมกับผู้เรียน โดยปกติให้เลือกจากบัญชีกำหนดสื่อการเรียนรู้สำหรับเลือกใช้ในสถานศึกษา รายการที่อยู่ในบัญชีที่ 1 จากเว็บไซต์ฐานข้อมูลบัญชีกำหนดสื่อการเรียนรู้สำหรับเลือกใช้ในสถานศึกษา ตามหลักสูตรแกนกลางฯ ตามที่อยู่เว็บไซต์ http://academic.obec.go.th/textbook/web/ หรือเว็บไซต์ของสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ตามที่อยู่เว็บไซต์ http://academic.obec.go.th
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำหรับวิธีการจัดซื้อนั้น ให้สถานศึกษาดำเนินการจัดซื้อโดยถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 (หนังสือสำนักงบประมาณ ที่ นร 0704/ว 37 ลงวันที่ 6 มกราคม 2559 เรื่อง แนวทางการพิจารณาสิ่งของที่จัดเป็นวัสดุและครุภัณฑ์ตามหลักการจำแนกประเภทรายจ่ายตามงบประมาณ) และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยให้คำนึงถึงคุณภาพที่เหมาะสมกับราคา และให้ต่อรองราคาจากผู้ขายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด กรณีหนังสือเรียนที่คัดเลือกมีความจำเป็นต้องระบุชื่อสำนักพิมพ์และชื่อผู้แต่งเป็นการเฉพาะ ให้ดำเนินการโดยเปิดเผย โปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม โดยให้จัดทำหนังสือแจ้งให้ผู้มีอาชีพ ร้านค้า สำนักพิมพ์ เข้าแข่งขันราคาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อมีผู้เสนอราคาต่ำสุดแล้ว หากเห็นว่าราคายังไม่เหมาะสมให้ทำการต่อรองราคาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
“สพฐ. ได้เน้นย้ำในเรื่องการจัดซื้อที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นแนวทางที่เรายึดถือมาตลอด เพื่อให้การจัดซื้อหนังสือเรียนเป็นประโยชน์กับสถานศึกษาและนักเรียนมากที่สุด ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการจัดซื้อเสร็จสิ้นแล้ว ให้สถานศึกษาแจกหนังสือเรียนที่จัดซื้อให้แก่นักเรียนทุกคน โดยไม่เรียกเก็บคืนและสร้างวินัยให้นักเรียนมีความรับผิดชอบ ตระหนักถึงการใช้หนังสือให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว