วันที่ 10 มกราคม 2567 ที่ โรงแรมเดอะพาลาสโช กรุงเทพฯ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการอบรมสัมมนาสภานักเรียนระดับประเทศ ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “สภานักเรียน สพฐ. สานต่อแนวคิดที่สร้างสรรค์ เรียนรู้อย่างเท่าทัน มุ่งมั่นพัฒนาประชาธิปไตย” โดยมีนายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อพัฒนานักเรียนให้เรียนรู้บทบาทหน้าที่ตามวิถีประชาธิปไตย ซึ่งกิจกรรมสภานักเรียนจะช่วยให้นักเรียนเกิดความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ทางสังคม มีกลไกกระบวนการดำเนินงานของสภานักเรียน รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในโรงเรียนด้วยกระบวนการอย่างสร้างสรรค์ นักเรียนทุกคนได้รับการปลูกฝังทัศนคติ ค่านิยมความเป็นประชาธิปไตย สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับสังคมได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ภายใต้ระเบียบ กฎ กติกา เป็นผู้นำ ผู้ตามที่ดี อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข
สำหรับปี 2567 ผู้เข้ารับการอบรมสัมมนาเป็นตัวแทนสภานักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 78 คน พร้อมครูที่ปรึกษาสภานักเรียน จำนวน 78 คน จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ คณะวิทยากรและคณะทำงาน จำนวน 66 คน รวมทั้งสิ้น 222 คน โดยการอบรมสัมมนาในครั้งนี้ มีกิจกรรมประกอบด้วย 1. สภานักเรียนกับความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย 2. การเรียนทำให้มีงานทำ กิจกรรมทำให้ทำงานเป็น รวมทั้งกฎหมายที่เด็กและเยาวชนควรรู้ 3. ทักษะที่จำเป็นสำหรับนักเรียนในยุคดิจิทัล 4. ประวัติศาสตร์กับความรุ่งเรืองในยุคปัจจุบัน และ 5. การเลือกตั้งคณะกรรมการสภานักเรียน ระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2567
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการสภานักเรียน เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนไทย ซึ่งถือเป็นทรัพยากรของชาติที่มีค่ายิ่ง ต้องได้รับการพัฒนาและปลูกฝังพื้นฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้เต็มศักยภาพเพื่อที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติ สามารถพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า เทียบเท่านานาอารยประเทศ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีความห่วงใยเด็กและเยาวชนของชาติที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานกิจกรรมสภานักเรียนให้ดำเนินไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน
“ขอฝากให้นักเรียนได้เรียนรู้บทบาทหน้าที่ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ ตามหลักวิถีประชาธิปไตย ได้แก่ คารวะธรรม สามัคคีธรรม และปัญญาธรรม ซึ่งเป็นหัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งการมีจิตอาสาและพัฒนาตนเองอย่างเต็มตามศักยภาพบนพื้นฐานหลักธรรมาภิบาล” รมช.ศึกษาธิการกล่าว