ที่จังหวัดขอนแก่น วันที่ 23 พ.ย.2566 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)เปิดเผยว่า วันนี้ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในจังหวัดขอนแก่น เพื่อรับฟังปัญหาและเน้นย้ำนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษาที่ รมว.ศึกษาธิการ มีความเป็นห่วงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยในส่วนของอาคารสถานที่ หรือ ความปลอดภัยจากภัยคุกคามจากภายนอก รวมถึงปัญหาจากยาเสพติด โดยเรื่องความปลอดภัยในส่วนของอาคารสถานที่ นั้น รมว.ศึกษาธิการ ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) และ ผู้อำนวยการสถานศึกษา สำรวจ อาคาร หรือ อุปกรณ์ ที่ชำรุด ทรุดโทรม หรือเสียหาย จนอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กนักเรียน โดยเน้นย้ำให้ตรวจตราเรื่องความแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร อุปกรณ์ สายไฟฟ้า โดยให้ประสานกับทางท้องถิ่นหรือโยธาธิการจังหวัดเข้ามาช่วยดู ถ้าโรงเรียนไหนมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยก็ให้รีบแจ้งเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อจะได้จัดสรรงบประมาณมาช่วยเหลือต่อไป
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องภัยคุกคามเด็กนักเรียนนั้น ครูก็ต้องช่วยเป็นหูเป็นตา แต่ก็ยอมรับว่าครูอาจมีอำนาจหน้าที่จำกัด ก็ขอให้ประสานงานกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือฝ่ายปกครองให้เข้ามาช่วยดู ซึ่ง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ก็ได้ประสานงานกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่า ขอให้ทางอำเภอเข้ามาช่วยดูโรงเรียนด้วย ดังนั้นจากนี้ต่อไปทางโรงเรียนและฝ่ายปกครองรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
“สำหรับกรณีคนแปลกหน้าเข้ามาในโรงเรียนนั้นได้มีการกำชับ เน้นย้ำว่า โรงเรียนต้องเป็นสถานที่ปลอดภัย ครูต้องช่วยเป็นหูเป็นตาและสังเกต โดยเฉพาะในช่วงเวลาการเรียนการสอนต้องเข้มงวดคนเข้าออกอย่างจริงจัง ถ้าหากเห็นอะไรที่ผิดสังเกต จำเป็นต้องประสานงานกับฝ่ายต่าง ๆ ก็ให้ดำเนินการทันที ส่วนการอนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้พื้นที่ของโรงเรียนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ นั้น โดยหลักการแล้ว ใครก็ตามที่จะเข้ามาใช้อาคารสถานที่หรือพื้นที่โรงเรียนจัดกิจกรรมจะต้องขออนุญาตซึ่งเป็นอำนาจของผู้บริหารสถานศึกษา ถ้าเป็นกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมก็ไม่อนุญาตอยู่แล้ว และยิ่งถ้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มมึนเมายิ่งอนุญาตไม่ได้ ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนในจังหวัดขอนแก่นที่ผ่านมา ที่มีกลุ่มบุคคลเข้าไปจัดกิจกรรมในสถานศึกษาโดยให้นักเรียนทำใบงานระบายสีอาชีพในฝัน และสอบถามถึงข้อมูลผู้ปกครองเกี่ยวกับการวางแผนการออม โดยมอบกระปุกออมสินเป็นรางวัล และต่อมา กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ใช้ข้อมูลจากใบงานติดต่อผู้ปกครองเพื่อเสนอขายสินค้าและบริการ นั้น สพท.และ สพฐ.ต้องเข้าไปตรวจสอบว่า รู้เท่าไม่ถึงการณ์จริงหรือไม่ ถ้ารู้แล้วยังปฏิบัติก็ต้องลงโทษ แต่ถ้ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ถือเป็นกรณีศึกษา ซึ่งก็ฝากให้ทุกโรงเรียนช่วยกันสอดส่องดูแลอย่างเข้มงวด เพราะเรื่องการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรี กำชับมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของหน่วยงานราชการ หรือข้อมูลส่วนบุคคล ต้องให้ความสำคัญ”นายสุรศักดิ์กล่าว