เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2566 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการทำหนังสือถึงกรมศิลปากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เข้ามาสำรวจ เพื่อขออนุญาตปรับปรุงซ่อมแซมเจาะวางท่อยาวใต้อาคารราชวัลลภ ภายในกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อความสะดวกในการสูบน้ำอัตโนมัติเวลาที่มีน้ำขึ้นสูงใต้อาคาร ทั้งนี้ เนื่องจากขณะนี้ ชั้นใต้ดินอาคารราชวัลลภมีน้ำท่วมสูงถึง 3 เมตร ทำให้ต้องคอยสูบน้ำออกตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2559 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกับมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ บูรณะและปรับปรุงอาคารราชวัลลภมาแล้ว โดยบูรณะซ่อมแซมเสร็จเมื่อปี 2561


สำหรับ อาคารราชวัลลภ เป็นอาคารกลางภายในกระทรวงศึกษาธิการ หรือ “วังจันทรเกษม” แต่เดิมเป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระราชทานให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ 6) แต่เนื่องจากตอนเริ่มสร้างวังแห่งนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้ดำเนินการสร้างต่อ เมื่อสร้างเสร็จทรงโปรดเกล้าให้ใช้เป็นโรงเรียนการเรือนและเป็นสถานพยาบาลสำหรับข้าราชการ บริพาร รวมทั้งเป็นที่ทำการของกรมมหรสพ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) ได้ยกวังจันทรเกษมให้เป็นอาคารที่ทำการของกระทรวงธรรมการ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงศึกษาธิการ จนกระทั่งปี 2559 กระทรวงศึกษาธิการ เห็นว่าอาคารราชวัลลภมีสภาพทรุดโทรมลงตามกาลเวลา ทั้งโครงสร้างหลังคาชำรุด ปลวกกินโครงและวัสดุมุงหลังคา บานประตู หน้าต่าง วัสดุปูพื้น ผนัง สีอาคารทั้งภายในและภายนอก ลวดลายประดับตกแต่งอาคาร ระบบระบายน้ำ และภูมิทัศน์โดยรอบเสื่อมสภาพ เพราะไม่เคยมีการบูรณะครั้งใหญ่ นับตั้งแต่มีการก่อสร้างขึ้นเป็นเวลานานกว่า 108 ปี จึงได้กำหนดให้มีการบูรณะและอนุรักษ์อาคารราชวัลลภให้มีความแข็งแรงมั่นคง โดยท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ประธานมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานอำนวยการในการอนุรักษ์ ซึ่งมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ฯ ร่วมกับกรมศิลปากร และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ร่วมกันบูรณะอาคารราชวัลลภเป็นครั้งใหญ่

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments