เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า จากการรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ผลการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 โดยมีหน่วยงาน องค์กร สถานศึกษา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมการประชุมกว่า 60 หน่วยงาน โดยวัตถุประสงค์สำคัญของการประชุมครั้งนี้ คือ ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการจัดการศึกษา ปัญหาอุปสรรคในการจัดการศึกษาตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และข้อเสนอแนะในการจัดทำ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม โลกในยุคปัจจุบันโลกมีเปลี่ยนแปลงไปจากปี พ.ศ. 2542 เป็นอย่างมาก เปลี่ยนผ่านจากยุค VUCA World มาสู่ยุค BANI World และปัจจุบันโลกได้ก้าวเข้ามาสู่ยุค Global Boiling ซึ่งเป็นยุคที่โลกต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างร้ายแรง ทำให้กิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยไม่เว้นแม้แต่การศึกษา ดังนั้นสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.)จึงต้องหันกลับมาทบทวนและถอดบทเรียนสภาวการณ์การศึกษาที่ผ่านมา เพื่อจัดทำร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ให้รองรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต

เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมีกระแสตอบรับที่ดี และสนับสนุนให้สกศ.เร่งรัดการจัดทำ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยเห็นได้จากหน่วยงานที่ตอบรับเข้าร่วมการประชุมมากว่า ๖๐ หน่วยงาน และมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเป็นคานงัดที่สำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จ และเป็นเรื่องสำคัญที่ สกศ.จะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ สกศ. ได้เตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดี โดยได้มีการวิเคราะห์ พ.ร.บ. การศึกษาของต่างประเทศที่มีความเป็นเลิศทางการศึกษาทั่วโลก ใช้ผลการวิจัยในประเด็นต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ มาสนับสนุนการจัดทำพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ให้เป็นยอมรับมากที่สุด

“ข้อเสนอแนะสำคัญที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ คือ การกำหนดประเภทของระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เข้าใจตรงกันและมีความเป็นสากล คือการกำหนดบทบาทหน้าที่และสถานะของครู ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา และหน่วยงานที่จะเกิดขึ้นใหม่ให้มีความชัดเจนและทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งข้อความในบทบัญญัติไม่คลุมเครือ มีความชัดเจนต่อผู้ปฏิบัติ และประเด็นสุดท้าย คือ การวางแผนรับมือช่วงเปลี่ยนผ่านในการจัดการศึกษาจาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 สู่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ เพื่อให้การจัดการศึกษาไม่สะดุดหรือติดขัด ซึ่งข้อเสนอแนะต่างๆ เหล่านี้ สกศ.จะนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ แน่นอน ”เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าว

5 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments