เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างหลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ เสนอคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) พิจารณาปรับเปลี่ยนการประเมินวิทยะฐานะ นั้น ตามโจทย์นโยบายของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้เน้นการประเมินที่เป็นไปตามสภาพจริง ลดการทำเอกสาร ลดขั้นตอนการประเมิน ไม่ซ้ำซ้อน ไม่ยุ่งยาก และเป็นธรรม โดยเน้นผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนตามช่วงวัยเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงสภาพบริบทของสถานศึกษา สอดคล้องกับผู้เรียนที่หลากหลาย และไม่เป็นการสร้างภาระแก่ครูมากเกินไป
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า เมื่อโจทย์จาก รมว.ศึกษาธิการ สพฐ.จึงคิดว่าจะต้องมีรูปแบบการประเมินที่มากกว่าหนึ่งช่องทาง เพื่อให้เป็นไปตามสภาพความเป็นจริง เพราะโรงเรียนสังกัดสพฐ. มีหลายบริบท และอีกส่วนที่เป็นปัจจัยสำคัญคือ ครูมีหลายกลุ่มอายุ ทั้งครูรุ่นใหม่ รุ่นกลาง และครูกลุ่มที่มีประสบการณ์นานอายุ 50 ปีขึ้นไป เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้การประเมินวิทยฐานะสะท้อนการทำงานของครูและตอบโจทย์การพัฒนาผู้เรียน ก็ควรจะให้มีการประเมินที่หลากหลาย ตามความถนัดและความสนใจเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายเรียนดี มีความสุข ลดภาระครู และบุคลากรทางการศึกษาซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ สพฐ. ตั้งทีมขึ้นมายกร่างหลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะเพื่อเสนอรมว.ศึกษาธิการพิจารณา ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการก.ค.ศ. ให้ความเห็นชอบ โดยก่อนดำเนินการ สพฐ.ได้สอบถามผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียหลายพื้นที่ ซึ่งผู้นำครูและบุคลากรทางการศึกษาส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า ควรจะมีช่องทางการประเมินวิทยฐานะที่สอดคล้องกับนโยบาย รมว.ศึกษาธิการ คือ ลดขั้นตอน มุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน โดยมีรูปแบบวิธีการประเมินที่หลากหลายมากกว่าเดิม โดยเน้นให้เป็นไปตามบริบทของพื้นที่ ทั้งโรงเรียนในเมือง โรงเรียนในชนบท โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล บนดอย ภูเขาสูง เกาะแก่ง ซึ่งบางแห่งยังไม่มีไฟฟ้าใช้อินเตอร์เน็ตเข้าไม่ถึง บางโรงเรียนยังใช้โซลาเซลล์ ซึ่งถ้าให้โรงเรียนที่อยู่ในเมืองประเมินแข่งกับโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล ก็จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม
“การยกร่างหลักเกณฑ์วิทยฐานะครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการรื้อ หรือยกเลิกเกณฑ์เดิม แต่เป็นการสร้างทางเลือกที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาผู้เรียนที่มีความแตกต่างกัน ทั้งเด็กปกติเด็กพิการ ผู้มีความสามารถเป็นเลิศ เด็กด้อยโอกาส รวมถึงให้การประเมินสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ทั้งในเมืองชนบท พื้นที่สูง เกาะแก่ง ทุรกันดารห่างไกล ฯ ตามนโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา อย่างไรก็ตามการยกร่างหลักหลักเกณฑ์ครั้งนี้ไม่ใช่ว่า หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือเกณฑ์ PA (ว 9/2564) ไม่ดี การประเมินตาม ว9 ที่สำนักงานก.ค.ศ. ดำเนินการอยู่ ถือเป็นการประเมินที่ตอบโจทย์เรื่องของการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนที่ดี ดังนั้นเกณฑ์ประเมิน ว9 ยังใช้อยู่และไม่มีการยกเลิก แต่จะเพิ่มโอกาสและทางเลือกการประเมินที่เหมาะสม สามารถพัฒนาผู้เรียนได้ ในรูปแบบที่หลากหลาย มุ่งวัดผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ที่มีบริบทที่แตกต่างกัน และวัดผลการทำงานของครู ตามบริบทของพื้นที่และธรรมชาติของวิชาที่มีการจัดการเรียนการสอนที่ต่างกัน ยืนยันว่าสพฐ.จะไม่ยกเลิก ว9 เพราะเป็นอีกหนึ่งช่องทางการประเมินที่ดี แต่ สพฐ.จะเพิ่มช่องทางการประเมินวิทยฐานะให้มากขึ้น โดยหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะทุกรูปแบบต้องเชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ตามนโยบายของรมว.ศึกษาธิการ ซึ่ง สพฐ. จะเร่งดำเนินการ เพื่อเสนอให้รมว.ศึกษาธิการเห็นชอบและเสนอคณะกรรมการก.ค.ศ.พิจารณาต่อไป ” ว่าที่ ร้อยตรี ธนุ กล่าว