เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2566 ตามที่ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รักษาราชการในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) มีร่างนโยบายที่จะปรับปรุงหลักสูตรและการเรียนรู้ให้ทันสมัย จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)จะมีการนำหลักสูตรฐานสมรรถนะมาใช้ เรื่องนี้ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า สพฐ.ได้นำนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ มาจัดทำร่างนโยบายและจุดเน้นปี 2567 -2568 จำนวน 11 ข้อ เพื่อมุ่งให้ สพฐ.เป็นองค์กรคุณภาพ สร้างคนดี มีความสุข สอดคล้องกับนโยบาย เรียนดี มีความสุข ของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดย 1 ในนโยบายและจุดเน้น ของ สพฐ. คือ ข้อที่ 5 ปรับปรุงหลักสูตรและการเรียนรู้ให้ทันสมัย ซึ่งเป็นการนำเอาแนวคิดที่จะดำเนินการให้สอดรับตามนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล ที่ให้มีการจัดทำหลักสูตรและให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับความรู้ความสนใจของผู้เรียน ตนจึงได้มอบหมายให้ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ไปทำประชาพิจารณ์ และเชิญผู้เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน นักเรียน ผู้ปกครอง ประชาชน อาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษาครู รวมถึงผู้ผลิตแบบเรียน เป็นต้น มาให้ความเห็น
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ตนมองว่า หลักสูตรที่เราใช้ในปัจจุบันคือ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560 เป็นการต่อยอดจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ซึ่งใช้มาเป็นเวลานานแล้ว จึงมีแนวคิดที่จะตั้งทีมขึ้นมาวิเคราะห์ว่า หากจะใช้หลักสูตรนี้ต่อไปโดยให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและในอนาคต หลักสูตรที่เหมาะสมจะต้องเป็นอย่างไร โดยให้ ดร.เกศทิพย์ ซึ่งดูแลด้านงานวิชาการของ สพฐ.เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันคิด วิเคราะห์ และออกแบบหลักสูตรรวมถึงพัฒนาการเรียนการสอนที่ต้องปรับให้เป็นแบบ Active Learning ที่สอดคล้องเหมาะสมกับการพัฒนาเด็กในปัจจุบันและมองถึงอนาคตที่ควรจะเป็นด้วย
“จากนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล รวมถึงนโยบายและจุดเน้น ของ สพฐ.เรื่องการปรับปรุงหลักสูตรและการเรียนการสอนให้ทันสมัย ผมจึงคิดว่าถ้าจะต้องปรับทั้งหลักสูตรและการเรียนการสอนก็ควรดำเนินการไปพร้อมกัน โดยฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้านโดยมุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนและคุณภาพผู้เรียนให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงของการจัดการศึกษาทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งนี้ให้นำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560 มาวิเคราะห์ด้วยว่าที่เรานำร่องใช้ไปแล้วดีหรือไม่อย่างไร จุดไหนจะต้องมีการปรับปรุงพัฒนาแก้ไขเพิ่มเติมก็ให้เสนอขึ้นมา แต่จะต้องไม่ทิ้งการเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง และที่สำคัญการปรับปรุงหลักสูตรและการเรียนการสอนจะต้องไม่เพิ่มภาระให้ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ตามเจตนารมณ์ นโยบายเรียนดี มีความสุข ของ รมว.ศึกษาธิการด้วย” ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าว