เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานมอบรางวัลคุณากร ครูยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์ ปี 2566 ซึ่งมาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการจังหวัดทั่วประเทศ และคณะกรรมการส่วนกลาง โดยความร่วมมือของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ คุรุสภา กระทรวงมหาดไทย และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นอกจากพิธีมอบรางวัล ได้มีการแถลงข่าว “ทิศทางการพัฒนาครู และเปิดตัวครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประเทศไทยและครูรางวัลคุณากร”

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า จากที่ได้เห็นประวัติการทำงานของครู ทำให้ประทับใจในความทุ่มเท เสียสละของครูที่มองเห็นศักยภาพของเด็กและเยาวชน แม้ว่าปัจจุบันนี้ การแสวงหาความรู้ความสามารถหาได้จากแหล่งต่างๆ ไม่เฉพาะจากครูและในห้องเรียน แต่ครูยังมีบทบาทสำคัญในการอบรมสั่งสอนกล่อมเกลาให้เด็กและเยาวชน ได้มีความรู้ความสามารถเป็นคนดีของสังคม ด้วยความทุ่มเทแรงกายและแรงใจที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณแห่งความเสียสละ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก ครูจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ทั้งองค์ความรู้และเทคโนโลยี และการสอนมิใช่เพียงเนื้อหาความรู้ แต่ต้องสามารถพัฒนาให้เด็กและเยาวชนมีกระบวนการคิดที่มีวิจาณญาณ เลือกรับและเรียนรู้สิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิต และขอย้ำถึงความสำคัญของการเรียนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง สามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา เน้นการเรียนดีมีความสุข ซึ่งจำเป็นต้องเริ่มจากความสุขของผู้เรียน ผู้สอน ไปจนถึงผู้ปกครอง เมื่อมีความสุขก็จะส่งผลให้การเรียนดีขึ้น ซึ่งการจัดการศึกษามีทั้งการเรียนเพื่อความเป็นเลิศ และการเรียนเพื่อความมั่นคงในชีวิต ซึ่งการศึกษาจะต้องไปข้างหน้า เพราะเราเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เชื่อมั่นในพลังของครู เพราะครูคุณภาพ สร้างคนคุณภาพ กระบวนการคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีของประเทศไทยจึงมาจากการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันสรรหาครูผู้มีคุณสมบัติ เป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตศิษย์ และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา ประเทศไทยจึงได้จัดทำรางวัลเพื่อยกย่องครูเพิ่มเติมได้แก่ รางวัลคุณากร 2 รางวัล รางวัลครูยิ่งคุณ 17 รางวัล และรางวัลครูขวัญศิษย์ 146 รางวัล เพื่อเชิดชูครูของแต่ละจังหวัด ในการขยายผลการทำงานของเครือข่ายครูสิ่งสำคัญคือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่ายครูทั้ง 11 ประเทศ พัฒนาทักษะวิชาชีพที่ส่งผลต่อนักเรียนและเพื่อนร่วมวิชาชีพครู การสนับสนุนจากภาคธุรกิจเพื่อเปิดพื้นที่ให้ครูได้เรียนรู้โลกธุรกิจและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี รวมทั้งโครงการส่งเสริมและพัฒนาการสะกด พูด อ่าน เขียนภาษาไทย (MOVE) เพื่อเด็กในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งให้ความสำคัญแก่นักเรียนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดเลขไม่ได้ และร่วมกับ กสศ. ในการต่อยอดความเชี่ยวชาญของครูรางวัลฯ เพื่อแบ่งปันทักษะการทำงานให้ครูและเด็กเยาวชนได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา โดยสร้างเครือข่ายและกลไกการทำงานอย่างเป็นระบบ

นายนิวัฒน์ เงินงามมีสุข ครูอาสาสมัครศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) สังกัดศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประเทศไทย กล่าวว่า เพราะเชื่อว่าการให้ความรู้จะติดตัวไปตลอดจนหมดลมหายใจ จึงมุ่งมั่นที่จะศึกษาหาความรู้ด้านการเกษตรเพื่อมาพัฒนาท้องถิ่นตนเอง และสมัครสอบเป็นครูอาสาสมัครศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” โดยจัดการศึกษาให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัย ใน 3 กิจกรรม คือ 1.การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เน้นการรู้หนังสือไทย 2. การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิต สังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม และทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิต และ 3. การจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ตามความสนใจของผู้เรียน เน้นการนำสถานการณ์ สภาพบริบทชุมชน และปัญหาชุมชนมาออกแบบบูรณาการเข้ากับหลักสูตร

“ผมใช้กระบวนการเรียนรู้ผ่านการทำเวทีประชาคมหมู่บ้าน ทำความเข้าใจร่วมกัน เกิดกฎของเวทีประชาคมหมู่บ้านจากการแก้ไขปัญหากันเอง ทำให้เกิดการเรียนรู้และความเข้มแข็งของชุมชนในที่สุด วิธีการเหล่านี้ทำให้ชุมชนสามารถแก้ปัญหาการปลูกฝิ่น ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ตัดไม้ทำลายป่า เปลี่ยนเป็นการส่งเสริมการปลูกกาแฟครบวงจร เกิดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟมอโก้คี และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ดังนั้นบทบาทของศูนย์การเรียนรู้จึงควรส่งเสริมการเรียนรู้ทุกกลุ่มวัย ทำให้คนในชุมชนมีความรู้ความเข้าใจซึ่งจะเป็นการสร้างคนที่ยั่งยืน” ครูนิวัฒน์ กล่าว

นายสมเกียรติ แซ่เต็ง ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม จ.ตราด ครูคณิตศาสตร์ในระดับชั้นมัธยมปลาย กล่าวถึงการจัดการเรียนรู้จากคณิตศาสตร์ในห้องเรียนสู่วิชาผู้ประกอบการยุคใหม่ในชีวิตจริงว่า การสอนวิชาคณิตศาสตร์ด้วยกระบวนการจำลองสถานการณ์จริง เช่น วิชาการเป็นผู้ประกอบการ วิชาคณิตศาสตร์เพื่อการลงทุน เช่น “Cafe@เขาน้อย” ฝึกประสบการณ์ผ่านการทำธุรกิจร้านกาแฟ กิจกรรมบริษัทจำลอง กิจกรรมการเป็นผู้ประกอบการ กิจกรรมตลาดนัดพัฒนาชีวิต โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนร่วมกันวางแผน ออกแบบแก้ไขสถานการณ์ บริหารและจัดการ ซึ่งครูจะรับฟังความเห็นของนักเรียนอย่างเสมอภาคและให้คำปรึกษาเพื่อการพัฒนางาน นอกจากนี้ครูควรทำหน้าที่แนะแนวทางให้ลูกศิษย์เพื่อค้นหาพัฒนาตัวตนตามศักยภาพบนความแตกต่างของแต่ละคน เพราะนักเรียนมีความแตกต่างกัน จึงต้องค้นหาอัตลักษณ์ของนักเรียนแต่ละคนเพื่อให้นักเรียนออกแบบการพัฒนาตนเองและวางแผนการใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ

นายอุดร สายสิงห์ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านโกตาบารู ครูกลุ่มสาระวิชา สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม และฝ่ายปกครองของโรงเรียน กล่าวว่า ในการจัดการเรียนรู้ ตนให้น้ำหนักที่การปลูกฝังพฤติกรรมด้านคุณธรรม ทักษะชีวิตที่หลากหลาย สร้างพลเมืองที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี และหลักปรัชญาในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยใช้ห้องเรียนที่กว้างใหญ่จากสิ่งต่างๆ รอบตัวในการจัดการเรียนรู้ ส่งเสริมประสบการณ์ เสริมสร้างอาชีพ และคิดค้นจุดเน้นนักเรียนในระดับ ม.ต้นคือ การเรียน การงาน การเงิน และการสร้างวินัย สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการปูพื้นฐานที่สำคัญในการต่อยอดเส้นทางการศึกษาที่สูงขึ้น

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments