เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวกรณี นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เปิดเผยข้อมูลของโรงพยาบาลวิชัยยุทธที่ติดตามโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ พบการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 คงที่ ไข้หวัดใหญ่ RSV, hMPV และไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่แซงหน้าไวรัสโควิด-19 มา 2 เดือนแล้ว ซึ่งช่วงนี้เด็กและผู้ใหญ่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจจำนวนมาก มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก แยกไม่ออกว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ RSV, hMPV โควิด-19 หรือไวรัสตัวอื่น ๆ ต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ จึงจะบอกได้ว่าติดเชื้อตัวไหนนั้น ว่า ช่วงเวลาฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลที่ไข้หวัดใหญ่ระบาดมาก โดยเฉพาะในสถานศึกษาเป็นแหล่งชุมชนจะมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีผู้คนอยู่รวมกันหนาแน่น อาจมีการแพร่กระจายเชื้อได้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีความห่วงใยและได้กำชับให้โรงเรียน และสถานศึกษาดำเนินการตามมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ของกรมควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด เพื่อลดอัตราป่วย ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการแพร่เชื้อ และการเสียชีวิต
นายสิริพงศ์ กล่าวต่อไปว่า อันดับแรกขอให้โรงเรียนควรจัดให้มีระบบการคัดกรองเด็กป่วย โดยวิธีการที่ใช้ในการคัดกรองเด็กขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละวัย ลักษณะของโรงเรียน และการจัดกิจกรรมของโรงเรียน เช่น ในช่วงเช้าจัดให้มีการคัดกรองเด็กป่วย หากพบว่าเด็กมีอาการเข้าได้กับโรคไข้หวัดใหญ่ เช่น มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ โรงเรียนควรทำการคัดแยกเด็กออกมาจากกลุ่มใหญ่ ใส่หน้ากากอนามัยให้กับเด็ก ให้เด็กที่ป่วยพักในสถานที่จัดเตรียมไว้ และติดต่อให้ผู้ปกครองมารับกลับไปพักดูแลที่บ้าน โดยให้หยุดเรียนพักอยู่บ้านจนกว่าจะหาย และหากมีการระบาดจำนวนมาก อาจพิจารณาปิดสถานศึกษา เพื่อลดการระบาดของโรคและการแพร่กระจายเชื้อ โดยใช้ดุลยพินิจร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ผู้บริหารสถานศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษา รวมทั้งเครือข่ายผู้ปกครอง
โฆษก ศธ. กล่าวว่า สำหรับสภาพแวดล้อมในโรงเรียนแม้จะเป็นช่วงปิดเทอม ก็ขอให้หมั่นตรวจตรา ดูแล จัดการให้เหมาะสมด้วย เช่น จัดเตรียมจุดล้างมือให้พร้อม (น้ำพร้อมสบู่ หรือ เจลแอลกอฮอล์) โดยเฉพาะในห้องน้ำและโรงอาหาร พร้อมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เช่น การล้างมือที่ถูกต้อง กระตุ้นให้นักเรียนล้างมือฟอกสบู่เหลวเป็นประจำหลังสัมผัสวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ และสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อป่วย สถานที่เรียนควรเป็นบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทหรือลมธรรมชาติสามารถผ่านได้สะดวก มีการทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ต้องสัมผัสบ่อย เช่น ราวบันได เครื่องเล่นคอมพิวเตอร์ จุดตู้น้ำดื่มเป็นประจำ และให้ทำความสะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือผงซักฟอก หรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป โดยเน้นทำความสะอาดในช่วงเวลาก่อนเข้าเรียน พักกลางวัน และช่วงเลิกเรียน นอกจากนี้โรงเรียนสามารถสร้างความตระหนักรู้การเฝ้าระวังโรคระบาดในโรงเรียนและชุมชนได้ เช่น จัดนิทรรศการให้ความรู้ คำแนะนำการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ ส่งเสริมให้นักเรียนและผู้ปกครองนำไปปฏิบัติ รวมถึงสร้างความเข้าใจในนโยบายของสถานศึกษา เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมไข้หวัดใหญ่ ตลอดจนส่งเสริมการออกกำลังกายอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายของนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน