เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. มีความมุ่งมั่น ตั้งใจดูแลครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างดีที่สุดในทุกมิติ ทั้งด้านสุขภาพอนามัย สวัสดิการ สวัสดิภาพ และเพื่อเป็นของขวัญเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี ของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.“2 ทศวรรษ ครอบครัวครู เราดูแล ” จะมีการเปิดรับสมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และ การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) เป็นกรณีพิเศษ โดยขยายอายุผู้สมัครจากการรับกรณีปกติอายุไม่เกิน 35 ปีบริบูรณ์ เป็นรับสมัครจนถึงอายุ 65 ปี ซึ่งนับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 พร้อมทั้งลดเงินค่าสมัคร และลดการเก็บเงินสงเคราะห์ล่วงหน้า เพื่อสำรองไว้เป็นการจัดการศพลง โดยจะเปิดรับสมัครกรณีพิเศษระหว่างวันที่ 7 กันยายน – 19 ตุลาคม 2566 ณ สำนักงาน สกสค.จังหวัด และ สำนักงาน สกสค.ส่วนกลาง ในวันและเวลาทำการ ซึ่งผู้สมัครต้องยื่นใบสมัครด้วยตนเอง
ดร.พิเชฐ กล่าวต่อไปว่า การรับสมัครสมาชิก ช.พ.ค.กรณีพิเศษ แบ่งเป็น 3 กลุ่มอายุ คือ 1.กลุ่มอายุไม่เกิน 35 ปีบริบูรณ์ กรณีพิเศษ ค่าสมัคร 20 บาท จากปกติค่าสมัคร 50 บาท และลดการเก็บเงินสงเคราะห์ล่วงหน้าเหลือ 200 บาท จากปกติ 1,000 บาท 2.กลุ่มอายุเกิน 35 – 60 ปี และ 3.กลุ่มอายุเกิน 60 – 65 ปี หรือ ผู้ที่เคยลาออกจากการเป็นสมาชิก ช.พ.ค. ใน 2 กลุ่มนี้ชำระค่าสมัครกรณีพิเศษเท่ากัน คือ 50 บาท และ เก็บเงินสงเคราะห์ล่วงหน้า 500 บาท สำหรับการรับสมัครสมาชิก ช.พ.ส. กรณีพิเศษ แบ่งเป็น 3 กลุ่มอายุเช่นเดียวกัน คือ 1.กลุ่มอายุไม่เกิน 35 ปีบริบูรณ์ ค่าสมัคร 20 บาท จากปกติค่าสมัคร 50 บาท และลดการเก็บเงินสงเคราะห์ล่วงหน้าเหลือ 200 บาท จากปกติ 600 บาท 2. กลุ่มอายุเกิน 35 – 60 ปี และ 3.กลุ่มอายุเกิน 60 – 65 ปี หรือ ผู้ที่เคยลาออกจากการเป็นสมาชิก ช.พ.ส. ใน 2 กลุ่มนี้ชำระค่าสมัครกรณีพิเศษเท่ากัน คือ 50 บาท และ เก็บเงินสงเคราะห์ล่วงหน้า 500 บาท โดยครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิก ช.พ.ค.-ช.พ.ส. กรณีพิเศษ สามารถตรวจสอบเพื่อจัดเตรียมเอกสารประกอบการสมัครได้ที่ เว็บไซต์ www.otep.go.th หรือ Face book : สกสค. ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกถอนชื่อจากการเป็นสมาชิก ช.พ.ค.- ช.พ.ส. ไม่สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกในครั้งนี้ได้
“ ช.พ.ค.-ช.พ.ส. จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อทำการสงเคราะห์ซึ่งกันและกันในการจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวของสมาชิก ช.พ.ค.-ช.พ.ส. เมื่อสมาชิก ช.พ.ค.-ช.พ.ส. คนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก ช.พ.ค.ทั้งสิ้น 936,482 คน หากสมาชิกเสียชีวิตครอบครัวจะได้รับเงินประมาณ 900,000 บาท ส่วนสมาชิก ช.พ.ส. มีทั้งสิ้น 388,100 คน หากสมาชิกเสียชีวิตครอบครัวจะได้รับเงินประมาณ 370,000 บาท โดยแบ่งการจ่ายเงินเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกค่าจัดการศพ จะได้รับภายใน 20 นาทีเมื่อเอกสารหลักฐานประกอบการขอรับเงินครบ ส่วนที่ 2 เงินสงเคราะห์ครอบครัวหลังจากหักส่วนแรกออกแล้ว โดยกรณีไม่มีภาระผูกพัน จะจ่ายภายใน 90 วัน นับจากวันที่สำนักงานประกาศ นอกจากนี้สมาชิก ช.พ.ค.-ช.พ.ส. ยังได้รับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ อีก เช่น เข้าใช้บริการหอพัก สกสค. ในอัตราพิเศษ เป็นต้น ทั้งนี้ หากมีสมาชิก ช.พ.ค.-ช.พ.ส. เป็นจำนวนมากครอบครัวก็จะได้รับเงินสงเคราะห์มากขึ้นด้วย” ดร.พิเชฐ กล่าว
รักษาการเลขาธิการ สกสค. ด้วยว่า มีสมาชิก ช.พ.ค.-ช.พ.ส. สอบถามเข้ามาว่า จะเปิดโอกาสให้สมาชิกได้กู้เงินการฌาปนกิจสงเคราะห์ออกมาใช้ก่อน หรือแบ่งเงินครึ่งหนึ่งให้สมาชิกนำมาใช้ก่อนเสียชีวิตได้หรือไม่นั้น ขอชี้แจงว่า ไม่ได้ เพราะ ช.พ.ค.-ช.พ.ส. มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน ดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีระเบียบสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ว่าด้วย ช.พ.ค./ช.พ.ส. พ.ศ.2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) กำกับให้เป็นไปตามกฎหมาย เมื่อสมาชิกเสียชีวิตก็เก็บเงินจากเพื่อสมาชิกศพละ 1 บาท เพื่อรวบรวมให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นเงินที่เก็บมาและจ่ายไปไม่ได้นำมากองรวมไว้ และไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการฌาปนกิจสงเคราะห์