ที่ห้องประชุมศ.หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือ กับ บริษัท น้ำตาลวังขนาย จำกัด และบริษัทในกลุ่มวังขนาย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายใหญ่ของประเทศ และมอบทุนสนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษา โดยมี ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายอารีย์ ชุ้นฟุ้ง ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มวังขนาย พร้อมด้วยตัวแทนบริษัทในกลุ่มวังขนาย ทั้งนี้ ดร.สุเทพ กล่าวว่า การร่วมมือในครั้งนี้เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ซึ่งบริษัทกลุ่มวังขนายได้มอบทุนสนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 45 คน จาก 9 สาขาวิชา และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน 24 คน จาก 5 สาขาวิชา ซึ่งการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เป็นนโยบายที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญ และเป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างสถานศึกษา และสถานประกอบการในเรื่องการจัดหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน การจัดการฝึกอาชีพ การวัดและประเมินผล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการผลิตกำลังคนด้านวิชาชีพที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ที่ยังต้องการพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล

“การลงนามความร่วมมือครั้งนี้เป็นความร่วมมือต่อเนื่องจากปี 2557 ที่กลุ่มวังขนายเปิดโอกาสให้บุตร หลานของเกษตรกร และบุคคลทั่วไปที่ผ่านการคัดเลือกได้เข้ามาศึกษาในระบบทวิภาคีกับ 10 วิทยาลัย คือ วิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม วิทยาลัยสารพัดช่างมหาสารคาม วิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิ วิทยาลัยสารพัดช่างชัยภูมิ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยภูมิ วิทยาลัยเทคนิควาปีปทุม วิทยาลัยการอาชีพบัวใหญ่ วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง วิทยาลัยการอาชีพอู่ทอง และวิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี ซึ่งสอศ.มีหน้าที่ในการจัดการอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพ เพื่อผลิตบุคลากรในระดับช่างฝีมือ ช่างเทคนิคและนักเทคโนโลยี ให้กับกลุ่มวังขนาย ซึ่งนักศึกษาจะได้รับจากการศึกษาระบบทวิภาคี คือ จะได้รับความรู้ ทักษะวิชาชีพ ความชำนาญ จากการฝึกอาชีพในโรงงาน มีความรู้ด้านวิชาการจากสถานศึกษา ได้รับคุณวุฒิระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จากสถานศึกษา และเมื่อจบการศึกษาจะเป็นกำลังสำคัญในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลต่อไป”เลขาธิการกอศ.กล่าว

ด้านนายอารีย์ ชุ้นฟุ้ง ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มวังขนาย กล่าวว่า นโยบายด้านการศึกษาของกลุ่มวังขนาย คือการพัฒนามนุษย์ พนักงาน และเยาวชน ให้มีความรู้ เพิ่มทักษะวิชาชีพ ซึ่งตนเห็นว่าสอศ.เป็นสถานศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนในระบบทวิภาคี จึงมีความร่วมมือกันตั้งแต่ ปี 2557 โดยมีพนักงาน และบุตรหลานชาวไร่ของกลุ่มวังขนาย เข้าศึกษาในระบบทวิภาคีและจบการศึกษาแล้ว จำนวน 290 คน ซึ่งในปี 2562 กลุ่มวังขนาย และสอศ.ได้คัดเลือกนักเรียน นักศึกษา เข้าศึกษาในระบบทวิภาคีกับ 10 วิทยาลัย สังกัดสอศ. จำนวน 69 คน ระดับปวช. จำนวน 45 คน สาขาช่างไฟฟ้ากำลัง ช่างซ่อมบำรุง ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างกลโรงงาน เทคโนโลยีโลหะการ เครื่องกล ช่างยนต์ ช่างเชื่อมโลหะ และสาขาพืชศาสตร์ และระดับปวส.จำนวน 24 คน สาขาเทคโนโลยีเครื่องกล เทคโนโลยีไฟฟ้ากำลัง ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างกลโรงงาน และช่างยนต์ พร้อมมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียน นักศึกษา ตลอดระยะเวลาการศึกษา จำนวน 3 ล้านบาท โดยนักเรียน นักศึกษา จะได้รับความรู้จากวิทยาลัย ได้ฝึกปฏิบัติจริงในโรงงานน้ำตาลของกลุ่มวังขนาย และเมื่อจบการศึกษาจะมีโอกาสได้รับคัดเลือกเข้าทำงานกับกลุ่มวังขนายอีกด้วย

 

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments