ตามที่รัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ได้ประกาศอย่างเป็นทางการที่จะเดินหน้านโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยจะแจกให้ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต และให้ใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตร จากที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามลักษณะภูมิประเทศเพื่อประโยชน์สูงสุด นั้น ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน( ส.ปส.กช.) กล่าวว่า วันนี้ประชาชนกำลังเฝ้ารอเงินดิจิทัลดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ให้ประชาชนมีสภาพคล่องมากขึ้นได้ อย่างไรก็ตามสมาคมฯขอยื่นข้อเสนอแนะให้เพิ่มช่องทางการใช้จ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่า นอกจากกำหนดให้ใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตรจากที่อยู่ตามทะเบียนบ้านแล้ว ยังอยากให้เปิดช่องให้นักเรียน อายุ 16 ปีขึ้นไปหรือผู้ปกครองซึ่งจะได้รับเงินดิจิทัลสามารถนำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาได้ด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองและตัวเด็กเอง
“เด็กอายุ 16 ปี ถ้าเรียนสายอาชีวะก็จะอยู่ประมาณระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ( ปวช.) 1 หรือ ปวช. 2 หรือ สายสามัญก็ประมาณ ม.ปลาย ซึ่งถ้ารัฐอนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาได้ เด็กก็ไม่ต้องไปหาเงินทางอื่น เนื่องจากเด็กบางคนก็ส่งตัวเองเรียน สามารถเอาเงินดิจิทัลส่วนหนึ่งมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนได้ อย่างเป็นค่าชุดนักเรียน เสื้อผ้า ซึ่งในรัศมี 4 กิโลเมตรจากทะเบียนบ้าน อาจไม่มีร้านขายเสื้อผ้าชุดนักเรียน ก็อยากเรียกร้องให้มีการเพิ่มประเภทการใช้เงิน โดยอนุญาตให้ไปใช้จ่ายในโรงเรียน ที่สถานศึกษาไม่ว่าจะของรัฐหรือเอกชนก็ได้” นายก ส.ปส.กช. กล่าวว่า จริงอยู่ถึงแม้รัฐจะมีนโยบ่ายเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ก็อยู่ในช่วงเรียนฟรีอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นที่ต้องจ่ายนอกเหนือจากที่รัฐอุดหนุน เช่น ค่าประกัน หรือ ค่าครูต่างชาติ หากสามารถนำเงินส่วนนี้ไปจ่ายได้ โดยอาจจะระบุว่านำไปใช้จ่ายเพื่อการศึกษาได้ 25 เปอร์เซ็นต์ แค่นี้ก็สามารถช่วยแบ่งเบาภาระของเด็กและผู้ปกครองได้แล้ว อีกทั้งยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่งด้วย