เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายคณวัฒน์ วงศ์แก้ว คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา นายชูชาติ พุ่มน้อย ผู้อำนวยการเขตดินแดง ผู้แทนจากกองบังคับการตำรวจจราจร ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครูและนักเรียน จำนวน 8 โรงเรียน ร่วมเปิดกิจกรรม โรงเรียนกทม.ปลอดภัย ชวนเด็กไทยสร้างวินัยจราจร (สู่โรงเรียนต้นแบบวินัยจราจร) “ขับขี่ปลอดภัย ใกล้ไกลใส่หมวก” พร้อมทั้งมอบชุดสื่อการเรียนรู้ให้กับ 8 โรงเรียน และวิทยากรจากกองบังคับการตำรวจจราจร ณ โรงเรียนวิชากร เขตดินแดง สำหรับกิจกรรมโรงเรียนกทม.ปลอดภัย ชวนเด็กไทยสร้างวินัยจราจร (สู่โรงเรียนต้นแบบวินัยจราจร) “ขับขี่ปลอดภัย ใกล้ไกลให้ใส่หมวก” จัดโดยเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านการสร้างความปลอดภัยทางถนนและลดปัจจัยเสี่ยงของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
จากเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทางสสส. คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน จัดกิจกรรม “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมสร้าง “Smart City : เมืองปลอดภัย คนปลอดภัย” โดยได้ขยายความร่วมมือกับโรงเรียนในสังกัดของกรุงเทพมหานคร เพื่อเน้นย้ำในการสร้างความปลอดภัยการใช้รถใช้ถนนกับกลุ่มเด็กและเยาวชน จึงพัฒนาโรงเรียนต้นแบบ 8 โรงเรียน ครอบคลุม 6 โซนของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย โรงเรียนวัดอัมพวา เขตบางกอกน้อย โรงเรียนเคหะทุ่งสองห้องวิทยา 1 เขตหลักสี่ โรงเรียนวิชากร เขตดินแดง โรงเรียนชูสินทองประดิษฐ์อนุสรณ์ เขตทุ่งครุ โรงเรียนวัดศรีสุก (แย้มเยื้อนอุปถัมภ์) เขตคลองสามวา โรงเรียนสุเหร่าคลองเก้า เขตหนองจอก โรงเรียนสวนลุมพินี เขตปทุมวัน และโรงเรียนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม เขตดุสิต
โดยจัดกิจกรรมให้ความรู้และสร้างความตระหนักในการใช้ถนนอย่างปลอดภัย กระตุ้นเตือนการมีจิตสำนึกถึงอุบัติเหตุทางถนน เริ่มต้นจากการสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งเมื่อต้องซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ หรือการหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย และสามารถบอกต่อให้ผู้ปกครองใช้ความเร็วที่ 30-40 กิโลเมตร ในเขตพื้นที่ชุมชน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด เป็นต้น การทำงานกับ 8 โรงเรียน เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ได้ร่วมกับเครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยงของกทม. ที่ทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนาน โดยได้เลือกโรงเรียนที่อยู่ใกล้ชุมชน เพื่อหวังให้การรณรงค์สร้างความปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนน เริ่มไปพร้อมกันกับโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน กิจกรรมในวันนี้มีการทบทวนความรู้เรื่องสร้างความปลอดภัยทางถนนได้ด้วยตัวเองโดยวิทยากรจากกองบังคับการตำรวจจราจร และมอบชุดสื่อการเรียนรู้ให้กับทั้ง 8 โรงเรียน ประกอบด้วย สื่อการเรียนการสอนเรื่อง เครื่องหมายจราจร เกมเดินช่องจราจร สื่อความรู้เรื่องการสวมหมวกนิรภัย
นางวันทนีย์ กล่าวว่า ปัจจุบันอุบัติเหตุจากจราจรทางบกก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขับขี่รถจักรยานยนต์ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก โดยมักจะเกิดกับเด็กและเยาวชน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการขับขี่ของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ประมาท ไม่เคารพกฎจราจร และสภาพของรถจักรยานยนต์ที่ไม่ปลอดภัย การร่วมกันสร้างจิตสำนึกให้กับเด็กๆ การสร้างความปลอดภัยให้กับตนเองในการเดินทางบนถนน ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะอุบัติเหตุทางถนนสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา การเดินทางของนักเรียนโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางโดยรถจักรยานยนต์ที่นักเรียนต้องซ้อนท้ายมากับผู้ปกครอง อีกทั้งการจราจรในกรุงเทพฯช่วงเวลาเร่งด่วนทั้งเช้าและเย็น จึงมีความน่าเป็นห่วงสำหรับนักเรียนที่ต้องเดินทางมาโรงเรียน
ทั้งนี้กรุงเทพมหานครเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของนักเรียนมาโดยตลอด และหวังว่านักเรียนทุกคนจะเล็งเห็นความปลอดภัยของตนเอง อย่างน้อยการสวมหมวกนิรภัยขณะที่จะซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ผู้ปกครองทั้งไปและกลับจากโรงเรียน ควรปลูกฝังให้เกิดขึ้นเป็นความเคยชินในทุกๆวัน ในโอกาสนี้ขอขอบคุณ สสส. และภาคีเครือข่าย ที่เห็นความสำคัญในการสร้างจิตสำนึกตั้งแต่วัยเด็ก รวมถึงเป็นการกระตุ้นให้ผู้ปกครองเองเห็นความสำคัญ ขอบคุณวิทยากรจากกองบังคับการตำรวจจราจร ที่มาให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกให้กับเด็กๆ โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 8 โรงเรียน รวมถึงเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว สสส. ที่เห็นความสำคัญของการสร้างความปลอดภัยของเด็กๆ มาโดยตลอด
“การรณรงค์เรื่องความปลอดภัยในท้องถนนแก่เด็กนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเด็กจะสามารถสื่อสารไปยังผู้ปกครอง ตลอดจนประชาชนในชุมชนให้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการเดินทางโดยรถจักรยานยนต์ จากสถิติอุบัติเหตุจากการจราจรทางบก ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน มองได้ว่าเรื่องนี้เราสามารถป้องกันได้ ถ้าทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมมีความเข้าใจมีความตระหนักในการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยและให้ความสำคัญถึงประโยชน์ในการสวมหมวกนิรภัย” รองปลัด กทม. กล่าว