เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 4 ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อรองรับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปโดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต ควบคู่กับการปฏิรูปที่สำคัญทั้งในส่วนของการปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม เพื่อให้คนมีความดีอยู่ใน ‘วิถี’ การดำเนินชีวิตและมีจิตสำนึกร่วมในการสร้างสังคมที่น่าอยู่ และการปฏิรูประบบเสริมสร้างความรอบรู้และจิตสำนึกทางสุขภาพ และ “ให้มีการปฏิรูปการเรียนรู้แบบพลิกโฉม ในทุกระดับตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการพัฒนาระบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงใน ศตวรรษที่ 21 มีการออกแบบระบบการเรียนรู้ใหม่ การเปลี่ยนบทบาทครู การเพิ่ม ประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการศึกษา และการพัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาผู้เรียน ให้สามารถกำกับการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเองได้อย่างต่อเนื่องแม้จะออกจากระบบการศึกษาแล้ว รวมถึงพัฒนา ส่งเสริม และรักษากลุ่มผู้มีความสามารถพิเศษของประเทศให้มีจำนวนเพียงพอ ที่จะผลักดันการเติบโตบนฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรม” เพื่อให้คนไทยมีศักยภาพในการจัดการสุขภาวะที่ดีได้ด้วยตนเอง พร้อมกับการสร้างครอบครัวที่เข้มแข็งอบอุ่น ซึ่งเป็นการวางรากฐานการส่งต่อ เด็กที่มีคุณภาพสู่การพัฒนาในช่วงอายุถัดไป โดยการส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ การสร้างครอบครัวที่เหมาะสมกับคนรุ่นใหม่ การพัฒนาสภาพแวดล้อม ที่เอื้อต่อการสร้างครอบครัวที่อบอุ่นเข้มแข็ง โดยกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาคนไทยในอนาคตต้อง “เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต มีทักษะในศตวรรษที่ 21 สู่การเป็นคนไทย ที่มีทักษะสูง เป็นนักนวัตกรรม นักคิด และผู้ประกอบการบนฐานของการรู้คุณค่าความเป็นไทย มีคุณธรรมจริยธรรม มีวินัย ความรับผิดชอบต่อสังคม และมีสุขภาวะที่ดี” โดยได้กำหนดแนวทางในการบรรลุเป้าหมาย คือ 1 มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต 2 มีการปฏิรูปการเรียนรู้แบบพลิกโฉมในทุกระดับตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต 3 พัฒนา ส่งเสริม และรักษากลุ่มผู้มีความสามารถพิเศษของประเทศให้มีจำนวนเพียงพอ ที่จะผลักดันการเติบโตบนฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ 4 การปฏิรูประบบเสริมสร้างความรอบรู้และจิตสำนึกทางสุขภาพ
ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า จากแนวทางดังกล่าว ศธ.โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดทำโครงการ “การพัฒนาระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อรองรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ของกระทรวงศึกษาการ” เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งคณะกรรมการฯมีมติในหลักการโครงการดังกล่าว ได้ให้ความเห็นชอบส่วนที่เป็นระบบคอมพิวเตอร์แล้ว โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและคอมพิวเตอร์ เพื่อรองรับการปฏิรูปการเรียนรู้แบบพลิกโฉมในทุกระดับตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 พัฒนา“ระบบนิเวศการบริหารจัดการเรียนรู้ของประเทศไทยโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน (Thailand’s Digital Learning Management Ecosystem : TDLME)” รองรับการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของประชากรของประเทศทุกคนให้สามารถพัฒนาตนเองภายใต้ทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 โดยจะมีการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แห่งชาติโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน (National Digital Learning Platform : NDLP) พัฒนารูปแบบการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน (Digital School Administration Platform : DSAP) นอกจากนี้จะมีการพัฒนาระบบเครือข่ายการศึกษาแห่งชาติ (National Education Network) ให้มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูง เป็นเครือข่ายเฉพาะด้านการศึกษาด้วย
ดร.อรรถพล กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายที่การมีระบบประมวลผลแบบคลาวด์ระดับกระทรวงศึกษาธิการ (MOE Private Cloud) เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการใช้ทรัพยากรระบบคอมพิวเตอร์ร่วมกัน มีรูปแบบการจัดการเรียนรู้แห่งชาติโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน (National Digital Learning Platform : NDLP) จำนวน 1 ระบบ มีรูปแบบการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน (Digital School Administration Platform : DSAP) จำนวน 1 ระบบ และมีระบบเครือข่ายการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC Network) ให้มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูง เป็นเครือข่ายเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเชื่อมต่อสถานศึกษาและหน่วยงานในสังกัด ให้เป็นเครือข่ายเดียวกัน