ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.)กระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือ ที่ มท 0816.3/ว296 ลงวันที่ 21 มกราคม 2562 ลงนามโดยอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครอง ไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่อง การจัดซื้อหนังสือ/แบบเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์และกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ซึ่งอ้างถึง หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0816.3/ว 2408 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 โดยมีเนื้อหาว่า ตามที่ กรมการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) ได้มีหนังสือแจ้งการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 และได้แจ้งแนวทางในการจัดหาหนังสือ/แบบเรียน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ปฏิบัติ โดยให้ครูผู้สอนเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกหนังสือ/แบบเรียนตามเหตุผลเชิงคุณค่าทางวิชาการ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะพิจารณาคัดเลือกจากหนังสือที่สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลักสูตรสถานศึกษาเป็นประจำทุกปีการศึกษา แล้วนั้น
“กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้โรงเรียนในสังกัด อปท.ได้พัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์และกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้หลักที่มีความสำคัญ เช่น กลุ่มสาระฯคณิตศาสตร์ มีความสำคัญต่อการพัฒนาความคิด ทำให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีเหตุผล เป็นระบบ สามารถวิเคราะห์ปัญหา หรือสถานการณ์ได้อย่างถี่ถ้วนรอบคอบ สามารถคาดการณ์ วางแผน ตัดสินใจ แก้ปัญหาและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และกลุ่มสาระฯวิทยาศาสตร์มีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบันและอนาคต เพราวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับทุกคนทั้งในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ เป็นต้น ดังนั้นเพื่อให้โรงเรียนในสังกัด อปท.ได้ใช้หนังสือเรียน/แบบเรียนที่มีคุณภาพในการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และได้รับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ จึงขอให้จังหวัดแจ้งอปท.พิจารณาและนำให้สถานศึกษาในสังกัดใช้หนังสือ/แบบเรียนในกลุ่มสาระฯคณิตศาสตร์และกลุ่มสาระฯวิทยาศาสตร์ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.)ตามที่เห็นสมควร”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากหนังสือดังกล่าวสำนักพิมพ์เอกชนหลายแห่งได้มีการร้องเรียนและท้วงติงถึงความไม่เหมาะสม เพราะเป็นการชี้นำและเกิดการผูกขาด รวมถึงทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ อีกทั้งเกรงว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นฐาน(สพฐ.)อาจจะนำไปตัวอย่างในการจัดซื้อหนังสือเรียนได้ ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่มีหลักการว่า ส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนในการผลิตสื่อการเรียนรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม