เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ลงนามความร่วมมือพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำผู้เรียนอาชีวศึกษา ป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า – บุหรี่ – อุบัติเหตุทางถนน ) ในสถานศึกษา ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ โรงแรม เบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร กรุงเทพฯ
เรืออากาศโท สมพร กล่าวว่า สอศ. มีวิสัยทัศน์ในการมุ่งผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูงเพื่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งการเป็นกำลังคนอาชีวศึกษาที่มีสมรรถนะสูงจะต้องประกอบไปด้วยการเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถและทักษะวิชาชีพ รวมถึงการมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี โดยการจัดการเรียนการสอนของ สอศ. ตระหนักถึงสุขภาพและความปลอดภัยของผู้เรียนเป็นสำคัญ จึงได้กำหนดให้มีการขับเคลื่อนศูนย์ความปลอดภัย สอศ. เป็นนโยบายเร่งด่วน รวมทั้งการเสริมสร้างอาชีวศึกษาปลอดภัย (Safety) เพื่อมุ่งสู่การเป็นสถานศึกษาแห่งความสุข ดังนั้น การสร้างความรอบรู้ทางด้านสุขภาพให้ผู้เรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มีความรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทและมีอิทธิพลต่อการรับรู้อย่างรวดเร็วและกว้างขว้าง ประกอบกับวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่ให้ความสำคัญกับเพื่อนเป็นหลักเพราะสื่อสารกันได้ง่ายและเข้าใจกันมากกว่า การจัดกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำผู้เรียนอาชีวศึกษาจะเป็นประโยชน์ในการช่วยป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ส่งผลต่อผู้เรียนในหลายด้านทั้ง มีผลการเรียนดีขึ้น มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งนี้การจะลดความเสี่ยง หรือ ป้องกันความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกันที่ดีนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ ต้องอาศัยทุกๆคน และทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วม
รองเลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริม สนับสนุนผู้เรียนอาชีวศึกษา รวมถึงครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีภูมิคุ้มกันในการป้องกันตัวเองจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ และเพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการฯ บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ สอศ. จะร่วมเป็นแรงผลักดันให้การดำเนินงานด้านการป้องกันปัจจัยเสี่ยง โดยการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษานำร่อง จำนวน 45 แห่ง กับ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ในพื้นที่ เพื่อร่วมกันพัฒนาและขยายผลการดำเนินโครงการฯ การสร้างสื่อรณรงค์ป้องกันเสี่ยง (เหล้า – บุหรี่ – อุบัติเหตุทางถนน) สู่สถานศึกษาทุกแห่ง สู่ชุมชนและสาธารณชน รวมทั้งร่วมกันติดตามและประเมินผล เพื่อให้เกิดโครงการฯ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่องต่อไป
ด้าน ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สสส. ร่วมกับมูลนิธิหยุดพนัน ดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่ ) ในสถานศึกษามาตั้งแต่ปี 2563 โดยดำเนินงานร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา 25 แห่ง และปัจจุบันกำลังดำเนินการในระยะที่ 2 โดยได้รับความร่วมมือจาก สอศ.ขยายไปยังวิทยาลัยอาชีวศึกษา 45 แห่ง ร่วมขับเคลื่อนการสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยง ประกอบด้วย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นต้นเหตุไปยังปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ยาเสพติด ทั้งนี้ สสส. จะทำหน้าที่ในการเชื่อม สาน และเสริมพลังให้หน่วยงานต่าง ๆ ในการดำเนินงานควบคุมปัจจัยเสี่ยง เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้แก่เยาวชน
“เยาวชนไทยเผชิญกับปัญหารอบด้าน โดยเฉพาะการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ตั้งแต่ปี 2554-2564 กลุ่มเยาวชนอายุ 15-19 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 20-24 ปี เพศชายเสียชีวิตมากกว่าเพศหญิง 4-5 เท่า ส่วนใหญ่เกิดจากดื่มแล้วขับ ใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด และไม่สวมหมวกนิรภัย ขณะที่สถิติการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2564 พบกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น เป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี มากถึง 84.1% ส่วนสถิติบุรี่ยังน่าเป็นห่วงเยาวชนไทยหันไปใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น กลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี มีสัดส่วนการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากที่สุด 30.5% จากผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าทั้งหมด 78,742 ราย” ดร .สุปรีดา กล่าวและว่า ปัจจุบันผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าพยายามออกแบบผลิตภัณฑ์ สร้างภาพลักษณ์ใหม่เรียนกว่าบุหรี่ไฟฟ้า gen 5 หรือ toy pod ใช้ตัวการ์ตูนชื่อดัง ทำให้ดูน่ารัก น่าลอง มีกลิ่นหอม ที่สำคัญประชาชนมีความเชื่อผิด ๆ ว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอันตราย สสส. และภาคีเครือข่ายพยายามให้ข้อมูลที่ถูกต้องว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตราย มีสารนิโคตินเป็นสารเสพติดที่มีผลทำลายสมองของเด็กและเยาวชนที่ยังเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้เสี่ยงต่อการเสพติดนิโคตินมากขึ้น และมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปอด ทำให้เกิด “โรคปอดข้าวโพดคั่ว” (Popcorn Lung) ที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้