เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) สุราษฎร์ธานี ชุมพร ว่า  ที่นี่สามารถแก้ปัญหาเด็กตกหล่นได้ดีมาก โดยเฉพาะเรื่องของเครือข่ายที่เชื่อมโยงกับทางกรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.) หรือ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.)เดิม ทั้งนี้เราต้องการให้การส่งเสริมการเรียนรู้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งเรื่องของการพัฒนาคน การให้คนเข้าถึงการเรียนรู้มากขึ้น เครือข่ายการเรียนรู้จะต้องมีมากขึ้น และให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  ซึ่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดท่องเที่ยว แต่อาจจะยังขาดแคลนในเรื่องของงานบริการโดยเฉพาะหลังจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ทำให้มีความต้องการกำลังงานกลุ่มนี้เยอะมาก ซึ่งทางอาชีวศึกษาก็ได้เข้ามาประสานกับผู้ประกอบการเพื่อช่วยแก้ปัญหาแล้ว และตนก็ได้แนะนำให้เน้นเรื่องของอาชีพมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ให้เด็ก ๆ ในพื้นที่มีโอกาสเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ได้มากขึ้น

น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังได้รับรายงานจากศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.)สุราษฎร์ธานี ว่า  เนื่องจากความเป็นแหล่งท่องเที่ยวทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาที่นี่เป็นจำนวนมาก  และมีนักศึกษาต่างชาติค่อนข้างมาก ซึ่งก็มีความห่วงใยในเรื่องของความมั่นคง ทางกระทรวงศึกษาธิการก็จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่ากระทรวงการต่างประเทศ(กต.)  กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) เพื่อตรวจสอบและดูแลเรื่องระบบการคัดกรองให้เข้มข้นมากขึ้น

ด้านดร.ประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(กช.)กล่าวว่า การอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาเรียนในโรงเรียนเอกชนนอกระบบถ้าอยู่ต่างจังหวัดก็เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด อนุมัติ แต่ถ้าอยู่ในเขตกรุงเทพฯก็จะเป็นอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.)อนุมัติ ซึ่งขณะนี้มีอยู่กว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ เปิดสอนหลากหลายสาขาวิชา อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาเรียน สช. จะส่งประวัตินักศึกษาไปให้ ตม.ตรวจสอบก่อนว่า เป็นบุคคลอันตรายหรือไม่ เพื่อออกวีซ่านักเรียน/Education visa ( NON ED Visa )  หรือ Extension every  90 days ให้เข้าเรียนในประเทศไทยได้

“ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวประเทศไทยจำนวนมาก มาเที่ยวแล้วก็จะมาเรียนภาษาในโรงเรียนเอกชนนอกระบบ  ซึ่งประเด็นปัญหา คือ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนหนึ่งที่ถือวีซ่าท่องเที่ยวซึ่งอยู่ได้ไม่นาน แต่อยากได้วีซ่า ED จึงสมัครเข้ามาเรียนภาษา อาชีพ ในโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ซึ่งบางคนเรียนบ้างไม่เรียนบ้าง แต่ใช้เวลาไปทำงานอย่างอื่น ก็เป็นหน้าที่ของศึกษาธิการจังหวัดที่ต้องเข้าไปดูแล โดย สช.ได้กำชับให้ไปตรวจสอบว่า ต้องเรียนจริงไม่ใช่เข้ามาแฝงทำงาน ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายและบางรายก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศด้วย”รองเลขาธิการ กช.กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments