รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ  มทร.ธัญบุรี ดำเนินโครงการ “การพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบ Metaverse โลกเสมือนจริง สู่ห้องเรียนเสมือนจริง” โดยมีเป้าหมายที่ต้องการจะส่งเสริม และพัฒนาความรู้ด้านนวัตกรรมที่รองรับการศึกษาแห่งอนาคต ให้แก่ครู ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อให้ครูสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับการสร้างห้องเรียน หรือสร้างบทเรียนรูปแบบ Metaverse โลกเสมือนจริงให้กับผู้เรียน ให้พร้อมรับกับโลกแห่งอนาคต ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญที่มุ่งพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบ Metaverse รวมถึงสามารถบูรณาการใช้เครื่องมือในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบ Metaverse ให้เข้ากับ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ตลอดจนสามารถสร้างสื่อการสอนด้าน Metaverse เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอน ให้มีความน่าสนใจและสอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยโครงการที่จัดขึ้นนี้มุ่งเน้นการพัฒนาและการเสริมทักษะทางด้านเทคโนโลยีแก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพฐ. ใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวนมากกว่า 15,000 ราย จากนั้นได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมด้วยหลักสูตรพิเศษ แล้วจึงให้ครูทำผลงานด้าน Metaverse เพื่อส่งเข้าประกวด โดยทางโครงการจะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกครูจำนวน 1,500 ราย เข้าอบรมด้วยหลักสูตรเฉพาะทางต่อไป พร้อมทั้งจัดให้เข้าสอบมาตรฐานสากล หลักสูตร Microsoft Certified Educator: MCE ซึ่งเป็นการทดสอบความรู้ทางเทคโนโลยี สำหรับนักการศึกษาระดับกลางที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ตามกรอบแนวคิดการออกแบบการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และเป็นการการันตี ความสามารถด้านเทคโนโลยีอีกด้วย

ด้าน ผศ.ดร.พงศ์พิชญ์ ต่วนภูษา รองอธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวเสริมว่า Metaverse เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมของโลกแห่งความจริงและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นชุมชนโลกเสมือนจริง และมีบทบาทมากยิ่งขึ้น ครูผู้สอนหรือบุคลากรทางการศึกษา จึงจำเป็นต้องรู้จัก เข้าใจ และประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งโครงการที่เกิดขึ้นนี้ได้รับความสนใจจากครูผู้สอนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และได้จัดให้มีพิธีมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดผลงาน รวมถึงมอบรางวัลแก่ครูที่มีผลงานดีเด่น Top Ten จาก 8 กลุ่มสาระ รวม 80 ราย และรางวัล Top Ten ในแต่ละกลุ่มสาระรวม 8 ราย ณ ศูนย์นวัตกรรมและความรู้ มทร.ธัญบุรี ดีดีมอลล์ จตุจักร เชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาและเสริมทักษะ รวมถึงต่อยอดเทคโนโลยีนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนต่อไป


ขณะที่ นายฐณรินทร์ หวายฤทธิ์ธนกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. กล่าวว่า โครงการการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบ Metaverse โลกเสมือนจริงสู่ห้องเรียนเสมือนจริง หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Metaverse Go to School เราได้ร่วมกันกับทาง มทร.ธัญบุรี เพื่อทำให้โครงการเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง เป็นกระบวนการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ภายใต้มาตรฐาน โดยมุ่งเน้นไปที่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้ได้สัมผัส เรียนรู้ รู้จัก เข้าใจขอบเขตความสามารถและประโยชน์ต่อการนำไปใช้ บูรณาการในรายวิชา สามารถเลือกเครื่องมือเพื่อมาต่อยอดสำหรับการพัฒนาหรือเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ กระตุ้นและสร้างความสนใจ อีกทั้งจูงใจให้ผู้เรียน เกิดการมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ กระทั่งเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเองในที่สุด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะได้รับการสนับสนุน ต่อยอดและขยายความสำเร็จ เพื่อเป็นต้นแบบ เป็นแนวทางต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศต่อไปได้.

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments