เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)ได้จัดแถลงผลการส่งดาวเทียมแนคแซทขึ้นวงโคจร โดยมี ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พร้อมด้วยทีมนักวิจัยโครงการออกแบบและจัดส่งดาวเทียมขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่า แนคแซท ทั้งนี้ศ.ดร.สุชาติ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2561 ที่ผ่านมา ตามวันในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา จรวดฟอลคอน 9 (Falcon 9)ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ภายใต้มิชชั่น SSO-A:Smallsat Express ของบริษัทสเปซไฟลท์ (Spaceeflight Inc.) ได้ส่งดาวเทียมแนคแซทพร้อมดาวเทียมอื่น ๆ รวมทั้งหมด 64 ดวง จากทั้งหมด 17 ประเทศ ขึ้นสู่วงโคจรสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย แล้ว เมื่อเวลา 09.04 น. ตามเวลาสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 4 ธ.ค. เวลา 14.04 น. ตามเวลาในประเทศไทย สัญญาณวิทยุของดาวเทียมแนคแซทถูกได้รับสัญญาณครั้งแรก ( First Voice) โดยนักวิทยุสมัครเล่นที่ใช้ชื่อว่า Mike Rupprecht ชาวเยอรมันนี และในวันเดียวกัน เวลา 10.41 น. ตามเวลาสากล ตรงกับเวลา 17.41 น. ตามเวลาในประเทศไทย นักวิทยุสมัครเล่นคนดังกล่าวก็ได้รับสัญญาณอีกครั้งในวันที่ 5 ธ.ค. เวลา 02.52 น. ตามเวลาสากล ตรงกับเวลา 07.52 น.ในประเทศไทย และ วันที่ 7 ธ.ค. เวลา 15.04 น. ตามเวลาสากล ตรงกับเวลา 22.00 น. ในประเทศไทย สัญญาณวิทยุของดาวเทียมแนคแซทถูกรับได้โดยนักวิทยุสมัครเล่นที่ใช้ชื่อ Fatc Mubin ชาวอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการยืนยันว่าดาวเทียมแนคแซทได้เริ่มต้นปฎิบัติการงานในอวกาศแล้ว
อธิการบดีมจพ. กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามดาวเทียมแนคแซทถือเป็นดาวเทียมสัญชาติไทยดวงแรกที่ออกแบบและสร้างในประเทศไทยโดยอาจารย์และนักศึกษาจาก มจพ. โดยมี พันธกิจหลักในอวกาศ ได้แก่ การถ่ายภาพโลกจากอวกาศ (ความละเอียด: 1 – 2 กิโลเมตรต่อ pixel) ทดสอบการทำงานของระบบต่าง ๆ ที่ออกแบบและจัดสร้างขึ้นในอวกาศ ซึ่งหวังว่าความสำเร็จในครั้งนี้จะเป็นการจุดประกายและกระตุ้นให้นักเรียนในโรงเรียนเกิดแรงบันดาลใจ และสนใจเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น และเป็นการ ยืนยันว่านักวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมของไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน และในอนาคตหวังว่าประเทศไทยจะสามารถผลิตดาวเทียมของไทย และใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และการศึกษาต่อไปได้
ดร.พงศธร สายสุจริต อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. ในฐานะผู้จัดการโครงการดาวเทียมแนคแซท กล่าวว่า ในส่วนของสถานภาคพื้นดินของโครงการดาวเทียมแนคแซท ที่ตั้งอยู่ ณ อาคารบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรธรไทย-เยอรมัน มจพ. ยังไม่ได้สัญญาณวิทยุของดาวเทียมแนคแซท แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการส่งดาวเทียมไปถึง 64 ดวงและขณะนี้ได้รับสัญญาณไปเพียง 3 ดวงเท่านั้น และขณะนี้มจพ.ได้จัดนักศึกษา และอาจารย์ เพื่อรอจับสัญญาณดังกล่าวได้ด้วยตนเองแล้วหลังจากที่สัญญาณวิทยุของดาวเทียมแนคแซทถูกได้รับครั้งแรก ซึ่งก็หมายความว่าดาวเทียมแนคแซทยังมีชีวิตอยู่ และคาดว่าอีกไม่นานมจพ.จะได้รับสัญญาณในภาคพื้นของตัวเอง