เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2566 ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะทำงานจากสภาการศึกษา มาสัมภาษณ์ประเด็น “โครงการจัดทำข้อเสนอแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการมีงานทำ” เนื่องจาก การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการมีงานทำ เป็นการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรให้แก่ผู้เรียนในรูปแบบและวิธีต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการฝึกสมรรถนะและมีทักษะที่สอดคล้องกับงานหรืออาชีพที่จะปฏิบัติ รวมถึงการเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนแต่ละคนสามารถค้นพบจุดมุ่งหมายของตนเองในการทำงานและเลือกงานตามความสนใจ ความถนัด และตามบุคลิกภาพของตน เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานหรือการเป็นผู้ประกอบการได้ในแต่ละช่วง ซึ่งการศึกษาแนวทางการพัฒนาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการมีงานทำ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในอนาคต และส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีนานาชาติ ด้วยเหตุนี้สภาการศึกษาจึงได้จัด “โครงการจัดทำข้อเสนอแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการมีงานทำ” เพื่อศึกษาสถานการณ์ สภาพปัญหาและอุปสรรค ปัจจัยและเงื่อนไขความสำเร็จ และรูปแบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการมีงานทำ รวมถึงแนวทางความร่วมมือของหน่วยงาน/ องค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการมีงานทำ อีกทั้งเพื่อจัดทำข้อเสนอแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการมีงานทำ ซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนการประชุมและเจรจาความร่วมมือทางวิชาการกับโรงเรียนในประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา(สวก.)สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) โดย สวก.ได้รายงานสรุปผลการร่วมประชุมและเจรจาความร่วมมือทางวิชาการกับโรงเรียนในประเทศญี่ปุ่นจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1) Meijo University Senior High School 2) Hyogo Prefectural Sanda Shounkan S.H.S. และ 3) Ritsumeikan Junior and Senior High School ณ ประเทศญี่ปุ่น สรุปดังนี้ โรงเรียนทั้ง 3 แห่ง เป็นโรงเรียนในโครงการ Super Science High School (SSH) ซึ่งเป็นโรงเรียนที่รัฐบาลให้การสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์ มีหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการทำโครงการวิจัย (Research Project) และการสร้างแรงบันดาลใจและการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สู่การพัฒนาสมรรถนะสำหรับอนาคต ได้แก่ Knowledge and Understanding, International Cooperation, Autonomy Independence, Scientific Creativity และมีการผลักดันให้เกิดการนำกระบวนการวิจัยเข้าในหลักสูตรชาติของญี่ปุ่น โดยส่งเสริมให้มีการจัดตั้งห้องทดลองวิทยาศาสตร์ (Laboratories) ที่มีอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยพร้อมต่อการศึกษาค้นคว้าวิจัยของนักเรียน และมีครูดูแลความปลอดภัยและให้ความช่วยเหลือสนับสนุนอย่างใกล้ชิด และสามารถเป็นต้นแบบที่ดีในการประเมินผลอิงการปฏิบัติงาน (Performance – Based Asssessment) ผ่านกิจกรรมการทำโครงการวิจัย (Research Project) ของนักเรียน ซึ่งสามารถสะท้อนผลลัพธ์การเรียนรู้ในทุกมิติ และกระบวนการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูผู้สอน และระหว่างครูผู้สอนกับนักเรียนได้เป็นอย่างดี
ดร.เกศทิพย์ กล่าวอีกว่า โรงเรียนได้ส่งเสริมการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยจัดเวที ห้องประชุมสัมมนา และสถานที่จัดแสดงผลงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักเรียนในโรงเรียน และส่งเสริมให้มีการจัดทำโครงการวิจัยแบบร่วมมือในระดับนานาชาติ (International Collaboration Research Project : ICRP) เป็นการส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้ทำงานวิจัยร่วมกันของนักเรียนญี่ปุ่นและนักเรียนในประเทศต่าง ๆ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ออสเตรเลีย สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และประเทศไทย เป็นต้น และมีการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย ทั้งอาจารย์ที่มาช่วยสอน บรรยายพิเศษ และสนับสนุนการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับการศึกษาวิจัย ส่งผลให้เกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการที่มีความเข้มแข็ง พร้อมจะสนับสนุนให้นักเรียนได้แสดงออกถึงศักยภาพทางด้านวิชาการอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังได้ส่งเสริมนักเรียนในกิจกรรมเสริมหลักสูตร ในรูปแบบของกิจกรรมชมรม ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกเข้าร่วมกิจกรรมได้ทุกวัน โดยมีระบบพี่เลี้ยง (Mentoring) ทั้งพี่สอนน้องและจากผู้เชี่ยวชาญที่มาช่วยพัฒนานักเรียน
“ดิฉันได้ฝาก สวก.ให้วิเคราะห์จุดแข็งของการจัดการศึกษาของโรงเรียนในประเทศญี่ปุ่นทั้ง 3 แห่ง ในด้านหลักสูตร การเรียนการสอน การวัดประเมินผล การพัฒนาสมรรถนะ ฯลฯ แล้วสังเคราะห์เป็นแนวทางการพัฒนาต่อยอดตามบริบท สพฐ. เพื่อให้เกิดการพัฒนาความร่วมมือเชิงวิชาการอย่างลึกซึ้ง ถ่องแท้ และสอดคล้องเหมาะสมกับหลักการและปรัชญาการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน และยังสามารถนำมาใช้เป็นฐานคิดในการวางแผนพัฒนางานในประเทศได้ด้วย”รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว